ภัย ‘เน็ต’ ทำเด็กซึมเศร้า-เมินพ่อแม่

ชี้ รัฐควรออกกม.ควบคุม-สร้างสื่อดี

 

 ภัย ‘เน็ต’ ทำเด็กซึมเศร้า-เมินพ่อแม่

          น.ส.ประพิมพ์พรรณ สุวรรณกูฏ นักพัฒนาสังคม สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,584 คน

 

          ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการรับสื่ออินเทอร์เน็ตบันเทิงมากที่สุด ได้แก่ รับข่าวสาร พูดคุยติดต่อเพื่อน ดูหนังฟังเพลง เสนอความเห็นในกระทู้ต่างๆ รองลงมาด้านการศึกษา ได้แก่ ส่งงานให้อาจารย์ หาข้อมูลสินค้า ทำธุรกรรมทางการเงิน จ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ และด้านลบ ได้แก่ ดูเรื่องต่างๆ ที่ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ ดูคลิปวีดีโอหรือภาพโป๊เปลือย นินทาหรือด่าว่ากัน ใช้เพื่อการพนันและเล่นเกมออนไลน์

 

          น.ส.ประพิมพ์พรรณ กล่าวด้วยว่า ผลจากการใช้อินเทอร์เน็ตทางลบ พบว่าด้านสุขภาพกาย ทำให้อ่อนล้าสายตา สายตาสั้นลง เมื่อยแขน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ปวดก้นกบ หลัง ไหล่ กล้ามเนื้อ ด้านสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจได้ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เบื่อหน่ายท้อแท้กับชีวิต ด้านสังคม คือ ถูกหลอก เกิดอาชญากรรม อยู่ในโลกความฝัน ไม่ค่อยได้คุยกับพ่อแม่และคนรอบข้าง

 

          อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนยังแสดงความเห็นในการจัดการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ควรมีกฎหมายสั่งปิด ปราบปราม เพื่อการสร้างสื่อที่ดีต่อสังคม ออกมาตรการควบคุมอายุผู้เข้าชม มีขั้นตอนการลงโทษ คอยตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update 15-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code