ภัยใกล้ตัว ‘ผู้สูงอายุ’ หลอกเอาทรัพย์สิน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เผยสถิติลูกหลาน คนใกล้ชิดภัยใกล้ตัวผู้สูงอายุ ไม่เข้าใจการดูแลทอดทิ้ง ทำร้ายร่างกาย หลอกเอาทรัพย์สิน แนะครอบครัว ชุมชน สังคม ต้องร่วมประสานสร้างเกราะกันเฝ้าระวังคนชรา
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุในไทย" โดย นางจิราพร เกศพิชยวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ สนับสนุนโดย มส.ผส.และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สำหรับงานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาถึงเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุ ทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทสังคมไทยทุกภาคส่วน พร้อมเก็บรวบรวมสถิติความรุนแรงและการละเมิดที่เกิดจากการนำเสนอในหน้าข่าวของสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ บุคลากร ที่มีส่วนในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
รายงานการวิจัย ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุที่เกิดมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแลที่เหมาะสม พบทั้งประเภทที่มีลูกหลานแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ประเภทที่มีลูกหลานแต่ถูกทอดทิ้ง บางรายมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ทั้งยังต้องเลี้ยงดูหลานไปด้วย
ปัญหาต่อมาคือ การถูกทำร้ายร่างกาย ที่พบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักเป็นคนในครอบครัว และเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ผู้กระทำมีความเครียดบ้าง บกพร่องทางสติปัญญา ติดสารเสพติด บางครั้งพบผู้สูงอายุถูกทำร้ายร่างกายโดยบุตรหลานที่ต้องการทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง
แต่อีกปัญหาที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือ การละเมิดด้วยการเอารัดเอาเปรียบหลอกลวง ผู้สูงอายุให้เสียทรัพย์สิน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิด รูปแบบการละเมิดมีทั้งการหลอกให้หลงเชื่อทำธุรกรรมทางการเงิน หลอกให้ลงนามสัญญากู้ยืม
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจำนวนมากยังถูกหลอกลวงโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือล่อ ให้ซื้อสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งพบว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมาการเอารัดเอาเปรียบ ผู้สูงอายุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดในผู้สูงอายุเอาว่า ต้องเริ่มจากระดับ บุคคล ที่ควรช่วยกันปลูกฝังทัศนคติ ส่งเสริมพฤติกรรมเกื้อกูลเลี้ยงดูบุพการี รวมทั้งค่านิยมต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ส่วนในระดับครอบครัวจะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ยกค่านิยมดีงามของวัฒนธรรมไทยที่ให้เกียรติยกย่องผู้อาวุโส
นอกจากนี้ ยังต้องขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำหนดมาตรการบังคับใช้ให้สังคม ต้องปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุ ทุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมียุทธศาสตร์หรือแผนงานให้สอดคล้อง
สุดท้ายคือ การขับเคลื่อนสังคม เช่นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การทำให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในเชิงบวกให้กับประเทศ