ภัยแฝงจากแสงแดดที่คนไม่ค่อยรู้

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ภัยแฝงจากแสงแดดที่คนไม่ค่อยรู้ thaihealth


แฟ้มภาพ


คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันที่มีเมฆหมอก วันที่ท้องฟ้าขมุกขมัว เวลาฝนตกหรือหน้าหนาว ไม่น่าจะเกิดอันตรายจากแสงแดด แต่ความจริงแล้ว แม้วันที่มีเมฆหมอก ไม่มีร่มเงาแดด แต่หากยังมีแสงสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ แสงยูวีก็ยังสามารถส่องผ่านมาได้


แม้กระทั่งวันที่มีลมพัดแรง ซึ่งผิวหนังอาจได้รับผลเสียจากแสงแดด และเกิดผิวไหม้ได้มากกว่าปกติ เพราะลมที่พัดแรงจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย ทำให้หลายคนอาจเผลออยู่กลางแจ้งหรือกลางแดดนานโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ เวลาเดินทางไปต่างจังหวัดที่ต้องใช้ เวลานานหลายชั่วโมง บางคนชอบเปิดหน้าต่างรถให้ลมพัดโกรกตลอดเวลา ผลคือ หน้าจะดำคล้ำลงทันทีเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง คนโบราณฉลาด และเก่งมากที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แล้วนำมาพูดเปรียบเทียบเป็นสำนวนประชดประชันว่า "แก่แดด แก่ลม" กับเด็กผู้หญิงที่อยากจะเป็นสาวทั้งที่อายุน้อยนิด แล้วรู้ไหมว่าการอยู่ในที่สูง เช่น บนภูเขา ก็ทำให้ผิวมีโอกาสได้รับอันตรายจากแสงแดดมากกว่าปกติด้วย เพราะพื้นที่สูงจะมีชั้นบรรยากาศ ที่ดูดซับรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงแดดน้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเล


ชนิดของรังสียูวี


รังสียูวีแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ รังสียูวีเอ (UVA) รังสียูวีบี (UVB) และรังสียูวีซี (UVC) 


  • รังสียูวีเอ (UVA) คือ รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีคลื่นยาวกว่ารังสี UVB และ UVC (UVA มีความยาวคลื่น 320-400 นาโนมิเตอร์) ที่สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้ แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนังเมื่อสัมผัสกับรังสี UVA จะเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่รู้สึกเจ็บเมื่อได้รับรังสีนี้ แต่ผลในระยะยาวเชื่อกันว่าหากได้รับรังสี UVA มากๆ จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระในผิวหนัง ซึ่งจะทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำเข้ม ขาดความสดใส
  • รังสียูวีบี (UVB) คือรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นรองลงมา (ความยาวคลื่น 290-300 นาโนมิเตอร์) รังสี UVB จะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วน และลงมาถึงผิวโลกประมาณร้อยละ 0.1 ของแสงทั้งหมด รังสี UVB แม้จะไม่สามารถทะลุสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกได้เท่ากับรังสี UVA แต่ก็มีผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อน แดง และไหม้เกรียม (ภายใน  24 ชั่วโมงที่โดนแสงแดดจัดนานๆ) อย่างไรก็ตาม ทั้งรังสี UVA และรังสี UVB ก็ทำให้ผิวหนัง เหี่ยวย่นและก่อโรคมะเร็งผิวหนังได้พอกันทั้ง 2 ชนิด รังสี UVB จะ มีความแรงสูงสุดในช่วงเวลากลางวัน คือตั้งแต่ 10.00-14.00 น. และแต่เดิมผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังเชื่อว่าเฉพาะรังสี UVB เท่านั้นที่ทำให้ผิวเกิดการไหม้ แต่ปัจจุบันพบว่ารังสี UVA ที่ทำให้ผิวคล้ำเมื่อถูกแสงแดดก็เป็นอันตรายต่อผิวเช่นเดียวกับรังสี UVB นอกจากนี้ยังมีหลักฐานแสดงว่ารังสีช่วงคลื่นยาวคือรังสีอินฟราเรดก็เป็นอันตรายต่อผิวหนังเช่นเดียวกัน
  • รังสียูวีซี (UVC) เป็นรังสีที่มีคลื่นสั้นที่สุด ในอดีตรังสี UVC จะถูกกรองไว้ได้ทั้งหมดโดยชั้นโอโซน จึงไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้ แต่ปัจจุบันนี้พบว่ารังสี UVC ก็สามารถทะลุชั้นโอโซนมายังพื้นโลกได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากมลพิษที่มนุษย์ก่อขึ้น จนไปทำลายชั้นโอโซนให้บางลง

Shares:
QR Code :
QR Code