ภัยเงียบโรคไม่ติดต่อไทยตายสูงสุดในโลก

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว "กลุ่มโรค NCDs วิกฤตโรค วิกฤตโลก" พร้อมเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ "กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างเอง" เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักให้กับคนไทยเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคในกลุ่ม NCDs


/data/content/24346/cms/e_adefjmnouy89.jpg


          ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ตลอดกว่า 10 ปี ในการทำงานเสริมสุขภาวะร่วมกับภาคีเครือข่าย พบคนไทยต้องเผชิญภัยเงียบ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) ที่มีสถิติผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ


          ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปี 2552 (สำรวจ 4 ปี/ครั้ง) ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคในกลุ่มนี้ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน หรือคิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมากกว่าครึ่ง เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 2 แสนล้านบาท/ปี


          "ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs 63 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของประชากรทั้งโลกถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าทุกประเทศในโลก และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กลุ่มโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้" ทพ.กฤษดากล่าว


          สำหรับ 6 โรคในกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง เกิดจาก 6 ปัจจัยเสี่ยง คือ เหล้า บุหรี่ อาหาร (หวาน-มัน-เค็มจัด) การออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเครียด และกรรมพันธุ์


/data/content/24346/cms/e_lnpqrstx2358.jpg


          สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) มหาวิทยาลัยมหิดล ขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบ NCDs Network เชื่อมโยงข้อมูลการทำงานและแนวทางรณรงค์ ป้องกัน ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ เน้นที่การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ช่วยลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์


          การสื่อสารหลักประจำปี 2557 จึงเน้นเตือนภัย "6-6-5" คือ 6 โรคที่มีผู้เสียชีวิตสูง 6 ปัจจัยเสี่ยงหลัก และ 5 แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงอาหารหวาน-มัน-เค็ม เพิ่มผักผลไม้ การออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน (5 ครั้ง/สัปดาห์) และอารมณ์ดี คิดบวก พักผ่อนให้เพียงพอ


          นอกจากนี้ยังจัดทำภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ชุด "Slow" เพื่อสื่อสารถึงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ สะสมและนำไปสู่โรคในกลุ่มโรค NCDs ในอนาคต และผลิตรายการชีวิต ลิขิตโรค และ NCDs Reality เพราะรักจึงยอมเปลี่ยนแปลง เป็นต้น


 


 


         ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด 

Shares:
QR Code :
QR Code