ภัยร้ายในปาก ‘ผู้สูงอายุ’ เสี่ยงโรคกว่าที่คิด

/data/content/24588/cms/e_bgnsxyz16789.jpg


          นับวันในสังคมไทย จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเป็นไปแบบก้าวกระโดด เพราะจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า มีค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5 แสนคน นอกจากโรคเรื้อรังต่างๆ แล้วหลายคนยังทุกข์ทรมานจากโรคในช่องปาก ซึ่งถือเป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีความชุกสูง


          โรคในช่องปากเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยง ร่วมกันกับโรคที่สำคัญที่พบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคที่มาจากอาหาร ความเครียด การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ การดูแลสุขภาพอนามัย เป็นต้น


          ที่สำคัญ หากเกิดการติดเชื้อในช่องปากจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดสูง จะพบการอักเสบของสภาวะปริทันต์มากกว่าปกติ ขณะที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวานจะมีโรคปริทันต์รุนแรงกว่า การติดเชื้อในช่องปาก ยังนำไปสู่สาเหตุการตายด้วยปอดอักเสบ จากการสำลัก (Aspirating Pneumonia) ในกลุ่มผู้สูงอายุที่สำลักได้ง่ายอีกด้วย


          ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ปัญหาสุขภาพปากและฟันในสังคมผู้สูงอายุว่า อยากให้คนไทยตระหนักและเห็นความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากช่องปาก มีเส้นเลือดตามเหงือกหรือขากรรไกร ฟันทุกซี่ ในโพรงประสาทฟันจะมีเส้นเลือดและ เส้นประสาทเข้าไปตามรากฟัน เมื่ออักเสบ จะทำให้มีเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคอาจจะหลุดเข้าไปในเส้นเลือดแล้วนำไปสู่การติดเชื้อ เช่น ที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบ ที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหนาขึ้นเมื่อหนามากขึ้นก็จะตีบ ในที่สุด นอกจากนี้ หากเชื้อ หลุดแล้ววิ่งไปที่สมอง ก็จะทำให้หลอดเลือดสมองตีบ และทำให้เป็นอัมพาตได้ในที่สุด


          "เรื่องสุขภาพปากและฟันมีความ สำคัญมาก เพราะอย่างที่ญี่ปุ่นก็ได้กำหนดให้ ทันตสุขภาพเป็น 1 ใน 8  นโยบายสาธารณสุข เรียกว่าเป็น Healthy Japan 2020 เพราะเขาไปพบว่าสาเหตุหลักๆ ของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ มาจากปอดบวม และนิวโมเนีย โดยมีต้นเหตุ มาจากการสำลักอาหาร เพราะเมื่อเรามีอายุ มากขึ้นทานอาหารจะสำลักน้ำได้ง่าย น้ำลายแห้ง เมื่อช่องปากสกปรก เชื้อก็เข้าไปในปอดทำให้ปอดบวมและเป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุ จะช่วยลดการตายของผู้สูงอายุได้ต้องไปแก้เรื่องปอดบวม จะแก้ปอดบวมได้ต้องไปแก้เรื่องช่องปาก ซึ่งในเมืองไทยก็มีไม่น้อย"


/data/content/24588/cms/e_bdeghnrwxz19.jpg


          ทพ.สุธา กล่าวต่อไปว่า เรื่องของฟันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีอยู่ 7 ประเด็น นอกจากการสูญเสียฟันแล้ว ยังมีเรื่องฟันผุ /รากฟันผุ โรคปริทันต์ มะเร็งช่องปาก ภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก และโรคในช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปี โดย สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย


          ครั้งล่าสุด ปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุเสียฟัน ทั้งปากแล้วร้อยละ 7.2 และสูญเสียฟันบางส่วน เกือบทุกคน ส่งผลให้เกิดความต้องการ ใส่ฟันเทียมบางส่วนสูงถึงร้อยละ 72.7 ที่น่าห่วงมากขึ้น คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันพบว่ามีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกือบทุกคนมีฟันผุ โรคปริทันต์ และอีกร้อยละ 17 มีรากฟันผุ


          "ทุกวันนี้ เราพบว่า ผู้สูงอายุแปรงฟันก่อนนอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.5 แต่มีการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันเพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุใส่ใจดูแลอนามัยช่องปากตนเองมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่า ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร และยังขาดประสิทธิภาพในการทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งจำเป็นมากสำหรับสภาวะในช่องปากของ ผู้สูงอายุ รวมทั้งยังมีการใช้บริการทันตกรรมในรอบปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 34.2 ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก เพราะหากเกิดโรคและสูญเสีย ฟันไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ทั้งยังส่งผล ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้านบุคลิกภาพ การเข้าสังคม การพูดคุย การเคี้ยวอาหาร การรับรสชาติ เป็นต้น"


          รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า หลักการง่ายๆ ที่อยากแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ ก็คือ ควรตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกปี และรับบริการ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา รวมทั้ง การใส่ฟันเทียมทดแทนฟันที่สูญเสียไป อย่างเหมาะสม หมั่นทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากการแปรงฟันตามสูตร 222 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที หลังการแปรงฟันให้งดอาหารหวาน น้ำหวาน ขนม น้ำอัดลม 2 ชั่วโมง


          นอกจากนี้ ยังต้องทำความสะอาดบริเวณซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน และบริเวณเหนือเหงือกที่เป็นช่องว่างใหญ่ๆ ควรใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดเสริม ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ อาจมีคนช่วยดูแลสุขภาพปากและฟัน หาก ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้มือได้อย่างสะดวก เช่น จับแปรงสีฟันไม่ถนัด แปรงฟันแล้วแปรงสีฟันหล่น อาจช่วยทำด้ามแปรงให้ใหญ่ขึ้น เช่น บางคนต้องนำแฮนด์จักรยานมาประยุกต์ให้เป็นด้ามจับ หรือนำยางมาพัน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถแปรงฟันได้สะดวกขึ้น


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code