ภัยร้ายรับปิดเทอม…ความเสี่ยงเจ้าตัวเล็กที่ป้องกันได้


และแล้ว…ก็มาถึงช่วงเวลาแห่งความสุขที่เชื่อว่าเด็กๆหลายคนกำลังรอคอย นั่นคือช่วง “ปิดเทอม” เพราะได้หยุดอยุ่กับบ้านไม่ต้องไปโรงเรียน แถมจะได้ไปเที่ยวอีกด้วย…แต่ในมุมกลับกัน ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ต้องหัวใจว้าวุ่นเป็นแน่ เพราะหลายครอบครัวไม่มีผู้ใหญ่ที่อยู่ดูแลเจ้าตัวน้อยอย่างเต็มที่ เนื่องจากภาระงานที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ


“รศ.ดร อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์”ผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและความปลอดภัยในเด็ก บอกว่า ในช่วงปิดเทอมนั่น ถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กมักจะเกิดอุบัติเหตุได้สูงมาก หากเปรียบเทียบแล้ว ในช่วงเดือนเมษายนจะพบว่า ตัวเลขของการเสียชีวิตในเด็กสูงที่สุดในรอบปี รองลงมาคือเดือนมีนาคม พฤษภาคม รวมถึงตุลาคม ซึ่งทั้งหมดนั้นตรงกับช่วงเวลาของปิดเทอมใหญ่และปิดเทอมเล็กแทบทั้งสิ้น 


“จมน้ำ-อุบัติเหตุ”เรตติ้งพุ่งช่วงปิดเทอม


แล้วมันมีภัยอะไรบ้างล่ะ?…ที่พ่อแม่ควรระมัดระวังในช่วงปิดเทอมนี้….หมออดิศักดิ์ บอกต่อว่า ภัยร้ายอันดับหนึ่งที่พ่อแม่ควรระวังหนีไม่พ้นเรื่อง“การจมน้ำ” ที่เป็นข่าวให้เห็นกันเป็นประจำทุกปี ยิ่งเป็นช่วงเวลาปิดเทอม อัตราตัวเลขจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติแล้วจะมีเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำปีละประมาณ 1,400-1,500คน เฉลี่ยเดือนละ 120คน แต่หากย้อนกลับไปดูใน 7-8ปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนเมษายนจะมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงถึงเดือนละ 190คน โดยในช่วงเดือน มีนาคม พฤษภาคม เฉลี่ยเดือนละ 150-160คน ซึ่งถือว่าสูงจากช่วงเวลาปกติทั่วไป 


ภัยอันตรายอันดับสองคงจะเป็น “อุบัติเหตุจราจร” ที่มีค่าเฉลี่ยในการเสียชีวิตของเด็กสูงมากในช่วงเดือนที่มีการปิดเทอมเช่นเดียวกัน โดยในแต่ละปีจะมีเด็กวัยรุ่น 15-19ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุยานยนต์ทางบกจำนวน 2000ราย ประชากรกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 9.6ของประชากรทั้งหมด แต่คิดเป็นร้อยละ 16ของการตายจากอุบัติเหตุยานยนต์ทางบกทั้งหมด อันดับสาม คืออุบัติเหตุรวม ไม่ว่าจะเป็น พลัดตก หกล้ม ไฟช็อค โดนของมีคม ทั้งหมดนี้ก็จะมีตัวเลขที่สูงขึ้นในช่วงปิดเทอมเช่นกัน ดังนั้นโดยรวมแล้วในช่วงปิดเทอมก็จะมีความเสี่ยงที่สุดสำหรับเด็ก


พื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ใกล้ตัว


คุณหมอยังบอกต่ออีกว่า หากพิจารณาในข้อเท็จจริง จะพบว่าอุบัติเหตุทั้งหลายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นใกล้กับละแวกบ้าน อาจเป็นละแวกบ้านที่เด็กอยู่เดิมหรือเป็นละแวกบ้านที่เด็กไปอยู่ในช่วงปิดเทอมด้วย และที่น่าสนใจก็คือเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5ปีที่ไม่น่าจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพราะอยู่ใกล้ชิดผู้ปกครองก็ยังมีตัวเลขการเสียชีวิตสูง ถึงแม้จะไม่เท่าเด็กในวัยเรียนแต่ก็มากในช่วงปิดเทอมอีกด้วย ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะมีการฝากเด็กเล็กไว้ให้เด็กโตดูแล จนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องตามมาได้


“หากดูภาพรวมแล้ว การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุใน 10ปีหลังพบว่า ในเด็กเล็กนั้นมีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง แต่ในเด็กโตกลับสวนทางกันสูงขึ้นกว่า 15%ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น การดูแลจึงจำเป็นต้องมีการปรับ อาจให้ความสนใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น” หมอกล่าว


ในเมื่อสาเหตุหลักๆของการเสียชีวิตและบาดเจ็บในเด็กนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากการเล่นซนของเด็กตามวัย ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ “ป้องกัน” โดยหมออดิศักดิ์ แนะนำว่า ในเมื่อรู้แล้วว่าช่วงเวลาปิดเทอมเป็นช่วงเวลาแห่งความเสี่ยงสำหรับเด็ก และเด็กมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บในช่วงนี้มาก อีกทั้งเรายังรู้สถานที่ที่อาจเกิดเหตุการณ์นั้นๆ แล้ว พ่อแม่ทุกคนจึงจำเป็นต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าเด็กโตจะสามารถรับรู้ เรียนรู้ความเสี่ยงได้แล้วก็ตาม แต่บางครั้งก็ยังไม่สามารเฝ้าระวังความเสี่ยงและป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น พ่อแม่จำเป็นต้องเพิ่มวิธีการดูแลลูกให้ใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ควรฝากเด็กเล็กให้กับเด็กโตเป็นผู้ดูแล  ในส่วนของเด็กโตนั้น พ่อแม่ควรพาไปสำรวจในจุดเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนปิดเทอม หรือต้นๆ ปิดเทอม เพื่อให้เด็กเห็นว่าพื้นที่ไหนที่สามารถเล่นได้  พื้นที่ไหนเล่นไม่ได้ เพื่อป้องกันการหลุดลอดสายตา แต่ก็เข้าใจว่าการดูแลอย่างใกล้ชิดในเด็กโตนั้นอาจเป็นไปได้ยาก การหากิจกรรมอื่นๆ เช่น พาไปเข้าแคมป์หรือค่ายต่างๆ ที่สร้างเสริมพัฒนาการก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง  แต่ที่สำคัญเด็กต้องชอบในกิจกรรมนั้นๆ ด้วย เพราะที่นั่นจะมีคนดูแลไปในตัวอยู่แล้ว 


นอกจากนี้ ชุมชนเองต้องร่วมมือกันจัดการกับพื้นที่เสี่ยง เช่น แหล่งน้ำก็ควรกั้นรั้ว สนามเด็กเล่นควรยึดติดกับพื้นราบ มีป้ายคำเตือนตามจุดต่างๆ รวมถึงจัดเพิ่มพื้นที่เล่นให้เพียงพอและปลอดภัยแก่เด็กอีกด้วย 


“เรียนหนัก-ติดเกม-เที่ยวตามเพื่อน”เพิ่มดีกรีเสี่ยง  


ปัญหาภัยในเด็กช่วงปิดเทอมยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องของการติดเกม ปัญหาเด็กเครียดจากการต้องไปเรียนพิเศษรวมถึงเด็กหายและโรคอ้วนในเด็กอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ให้ความเห็นว่า ภัยเด็กในช่วงปิดเทอมที่ตนเป็นห่วงนั้นมีด้วยกัน 3เรื่อง คือ 1.เรียนพิเศษ 2.เล่นเกม และ 3.ไปเที่ยวบ้านเพื่อน ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นถือเป็นความเสี่ยงคนละแบบ เรื่องของการเรียนพิเศษ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้เสมอ ซึ่งบางครั้งก็น่าสงสารเด็ก ที่ปิดเทอมก็น่าจะมีเวลาพักผ่อนสมองจากการเรียน บางคนเรียนหนักสัปดาห์ละ 5 – 6วันก็มี เรื่องนี้ผู้ปกครองควรพิจารณาให้ดี โดยอาจหาสิ่งอื่นมาทดแทนให้เด็กทำแทนการเรียนพิเศษที่หนักเกินไป


สำหรับการติดเกมนั้น เชื่อว่าอัตราการเล่นเกมของเด็กในช่วงปิดเรียนนั้นจะพุ่งสูงมากอย่างแน่นอน ซึ่งผลที่ตามมาจากการเล่นเกม ก็มีทั้งเรื่องของสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว และอาจลามไปถึงการไม่อยากไปเรียนเมื่อเปิดเทอม และสำหรับเรื่องของการไปอยู่บ้านเพื่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะเด็กบางคนก็หัดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือทำในเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่บ้านเพื่อน ดังนั้น ทั้งหมดนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ลูก หาเวลาว่างของตนเอง พาลูกไปเที่ยว และดึงลูกทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันในครอบครัวทดแทนการเข้าไปเล่นเกมเพียงอย่างเดียว ตลอดจนการเฝ้าระวังการไปอยู่บ้านเพื่อน หากเป็นบ้านเพื่อนที่พ่อแม่ไม่รู้จัก หรือเห็นว่าลูกไม่ควรไป ก็ควรต้องพูดคุยกับลูกว่าที่ไหนควรไปหรือไม่ควรไป 


นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นสำหรับภัยร้ายที่อาจจะพรากเจ้าตัวน้อยไปจากคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายหากไม่ระมัดระวัง เพราะยังมีเรื่องของเด็กหายหรือแม้กระทั่งโรคอ้วนในเด็กที่ควรระมัดระวังเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดๆ ก็ตาม สิ่งเดียวที่จะเป็นเกราะป้องกันได้นั่นก็คือความรัก การเอาใจใส่ดูแลของผู้เป็นพ่อแม่ หากไม่อยากให้เรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก ควรหันไปใส่ใจพวกเขาให้มากขึ้นนะคะ


 


 


เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ