ภัยมืดน้ำรถขนปลา ต้นเหตุถนนลื่น

มีผลต่ออุบัติเหตุ

ภัยมืดน้ำรถขนปลา ต้นเหตุถนนลื่น

 

          จากเมือกปลาที่ไหลลงผิวถนน ส่งผลอุบัติเหตุสมุทรสาครพุ่ง 7 เท่า โดย สสส.และ ศวปถ.เผยงานวิจัยล่าสุด นักวิชาการแนะให้ทำความสะอาดผิวถนน ควบคุมรถขนปลาอย่าให้น้ำเมือกปลาไหลลงผิวถนน

 

          นายกัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ นักวิจัยจาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวถึงผลการศึกษา เรื่อง งานศึกษาค่าความเสียดทานของผิวทางที่มีผลต่อความปลอดภัยทางถนน กรณีศึกษา ผลกระทบของน้ำเมือกปลาบนถนนพระราม 2 จังหวัดสมุทรสาครสนับสนุนโดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ได้วิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก หลังพบว่า ระหว่างปี 2544-2551 ถ.พระราม 2 ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร มีอุบัติเหตุอันตรายข้างทางหรืออุบัติเหตุรถตกข้างทางมากกว่า ถ.พระราม 2 ที่ตัดผ่านจ.สมุทรสงครามถึง 7 เท่า โดยอัตราการตายมีมากกว่าถึง 6 เท่า เพราะถ.พระราม 2 ที่ผ่านสมุทรสาคร มีรถบรรทุกขนส่งปลาและอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่า น้ำเมือกปลาที่ไหลลงมาบนถนนทำให้ถนนลื่น และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

 

          นักวิจัยจากสถาบันเอไอที กล่าวต่อว่า การศึกษาค่าความเสียดทานที่ปลอดภัยของผิวทาง ที่ทดสอบภาคสนามหน้าตลาดทะเลไทย และทางเข้าตัวเมืองสมุทรสาครใช้เครื่องมือเฉพาะ ในการวัดค่าความเสียดทานของผิวถนน ที่ตำแหน่งใต้ร่องล้อด้านซ้าย ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ในกรณีไม่ได้ทำความสะอาดคราบเมือกปลา ถนนจะมีค่าความเสียดทานต่ำกว่าค่ามาตรฐานถึง 20-50% และหลังทำความสะอาดคราบน้ำเมือกปลาออกจากผิวถนน ค่าความเสียดทานเฉลี่ยที่ได้สูงขึ้นถึงประมาณ 1.2-1.4 เท่า

 

          นายกัณวีร์ กล่าวอีกว่า จากนั้นได้ทดลองทำความสะอาดโดยวิธีต่างๆ ทั้งกวาดและขัดด้วยน้ำเปล่า ราดด้วยน้ำยาอีเอ็ม โดยพบว่าการทำความสะอาดผิวทาง มีผลต่อการเพิ่มค่าความเสียดทาน ช่วยทำให้ผิวถนนลื่นน้อยลงได้ โดยการศึกษาชี้ว่า พื้นที่จ.สมุทรสาคร ในช่วงเวลาเช้ามีการขนส่งอาหารทะเลออกจากตลาด มีรถบรรทุกทั้ง 4 ล้อ และ 6 ล้อมีทั้งรถที่ปิดฝาภาชนะ และไม่ปิดฝาภาชนะ ซึ่งพบว่า ในจำนวนรถบรรทุกทั้งหมดที่วิ่งออกมาจากตลาดทะเลไทย มีจำนวนรถที่มีน้ำรั่วไหลลงสู่ผิวถนนถึง 60% ทำให้ผิวถนนมีสภาพแฉะ ลื่นและส่งกลิ่นเหม็น โดยจากการติดตามการจับกุมรถเหล่านี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะถ้ามีการตั้งด่านรถบรรทุกจะไม่เดินทางออกมา

 

          นักวิจัยจากสถาบันเอไอที กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สามารถทำได้โดยการทำความสะอาดผิวทางที่มีการสะสมของคราบน้ำเมือกปลา แต่การล้างทำความสะอาดธรรมดาไม่สามารถขจัดคราบออกหมดได้ แต่ต้องใช้รถทำความสะอาดเคลื่อนที่ ที่มีการใช้อยู่ในต่างประเทศเพื่อทำความสะอาดผิวทางจากคราบสกปรกต่างๆ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องควบคุมไม่ให้น้ำเมือกปลาไหลลงสู่ผิวถนน สามารถทำได้โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการหาวิธีป้องกันการขนส่งปลาที่ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มมีการดำเนินการดังกล่าวบ้างแล้ว แต่ผู้ประกอบการส่วนมากก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญของปัญหา และวิธีป้องกันปัญหาการรั่วไหลอยู่

 

 

 

 

 

 

ที่มา:สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 10-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ