“ฟู้ดทรัค” ธุรกิจมาแรง เพิ่มมูลค่าอาหารริมทาง
ที่มา : แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
ยุคนี้จะวงการไหน ๆ ก็หนีไม่พ้นคำว่า "เพิ่มมูลค่า (Value Added)" แม้กระทั่งสินค้าพื้นฐานที่สุดอย่าง "อาหาร" ที่ไม่ได้ทำแต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะการขายด้วย เช่น "สตรีทฟู้ด (Street Food) หรือ อาหารริมทางอันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยและเป็นจุดขายของภาคการท่องเที่ยว นอกจากการขายแบบดั้งเดิมอย่างแผงลอยหรือการต่อโต๊ะ-เก้าอี้จากในร้านออกมาบนทางเท้าหรือบนถนนแล้ว "ฟู้ดทรัค (Food Truck)" หรือการนำยานพาหนะมาดัดแปลงเป็น "ครัวเคลื่อนที่" ก็กำลังเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน
ที่งานแถลงข่าว "รักสุขภาพด้วยไลฟ์สไตล์ กับ 3 Street Food Models" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตราชวิถี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากจะกล่าวถึงโครงการ "การพัฒนา รูปแบบการจัดการอาหารริมบาทวิถีเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ"สำรวจอาหารริมทาง หรือสตรีทฟู้ดทั้งแบบแผงลอยบนทางเท้า แบบขายในตลาด และแบบรถเคลื่อนที่หรือ ฟู้ดทรัค ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 6 เขต รวมถึงใน จ.ภูเก็ต อุบลราชธานี เชียงราย และที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี แล้ว ยังมีวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวของฟู้ดทรัคในสังคมไทยด้วย
ชนินทร์ วัฒนพฤกษา ผู้ก่อตั้ง "ฟู้ดทรัคคลับประเทศไทย (FOOD TRUCK CLUB THAILAND)" อันเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการรถฟู้ดทรัคในไทย กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีก่อน เริ่มเห็นการใช้รถฟู้ดทรัคทำการตลาดจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ แต่เวลานั้นยังไม่เห็นว่ามีองค์กรใดที่เป็นแกนกลางของคนกลุ่มนี้โดยตรง จึงก่อตั้งขึ้นมา ปัจจุบันมีสินค้า 700 ยี่ห้อ จากทั่วประเทศเข้าร่วมเครือข่าย โดยบางยี่ห้ออาจมีรถฟู้ดทรัคตั้งแต่ 3-10 คัน รวม ๆ แล้วมีรถฟู้ดทรัคในเครือข่ายราว 800-900 คัน อยู่ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 70 จังหวัดอื่น ๆ ร้อยละ 30
"ฟู้ดทรัคมีองค์ประกอบหลัก 4 อย่าง 1.ต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 2.มีชื่อร้านค้าเป็นของตัวเอง เพื่อจะได้บ่งบอกว่าคุณคือใคร เวลามีปัญหาหรือมีอะไรติดขัด ลูกค้าสามารถแจ้งได้ 3.ต้องปรุงหรือประกอบอาหารอยู่บนรถ และ 4.ต้องมีการต่อตู้ทึบที่แข็งแรง ฉะนั้นถ้ารถคันไหนใช้เป็นลูกกรงหรือเป็นผ้าใบคลุม อันนี้เราไม่เรียกฟู้ดทรัค หลายครั้งเราจะเห็นผู้ประกอบการเอาอาหารขนขึ้นมาบนรถ แล้วพอจอดรถก็ขนโต๊ะ เก้าอี้ เตา ลงมาตั้งข้างล่างเต็มไปหมดแล้วบอกว่าเป็นฟู้ดทรัค อันนี้ไม่ใช่ เขาเรียกรถขนของ" ชนินทร์ อธิบายลักษณะของรถฟู้ดทรัค
ผู้ก่อตั้งฟู้ดทรัคคลับประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า รถฟู้ดทรัคอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1.รถกระบะต่อเติมตู้ด้านหลัง ซึ่งจะมีรถกระบะบางยี่ห้อที่ได้รับความนิยมมากในการนำมาทำฟู้ดทรัคประเภทนี้ 2.รถพ่วง เป็นการต่อร้านค้าขึ้นแบบติดล้อแต่ไม่มีเครื่องยนต์หรือที่นั่งคนขับ การเคลื่อนย้ายจะใช้รถชนิดอื่น ๆ ลากไป 3.รถเก่าดัดแปลง กลุ่มนี้มักจะเป็นรถตู้ที่เจาะช่องประตู-หน้าต่าง โดยต้นทุนของแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน
ในด้านการใช้พลังงานเพื่อประกอบอาหาร รถฟู้ดทรัค โดยทั่วไปมักค้าขายอยู่กลางแจ้งจึงใช้แก๊สเป็นหลัก แต่หากต้องเข้าไปขายในอาคารซึ่งมีข้อห้ามใช้เตาแก๊สก็ต้องใช้เตาไฟฟ้าแทน โดยต้องสอบถามผู้ดูแลสถานที่ก่อนว่าจะให้ใช้พลังงานชนิดใด มีจุดต่อไฟฟ้าหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ค้าบางราย ยังลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ไว้ใช้สำหรับเมื่อต้องไปขายในจุดที่ไม่มีปลั๊กไฟ เช่น ริมชายหาด หรือบ้างก็มีเครื่องปั่นไฟของตนเอง เพราะปัจจุบันก็มีเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กแต่สมรรถนะสูงให้หาซื้อมาใช้งานได้
ชนินทร์ ระบุว่า ตั้งแต่มีการรวมกลุ่มก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ทั้งภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการขนส่งทางบก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันยานยนต์ สถาบันอาหาร และภาควิชาการ เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เป็นต้น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้มีคุณภาพดีในมาตรฐานเดียวกัน
แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.คน หมายถึงผู้ประกอบอาหารทั้งที่เป็นเจ้าของร้านและลูกจ้าง 2.ครัว หมายถึงสุขอนามัยของอุปกรณ์ประกอบอาหารบนรถ เช่น ระบบน้ำดี ถังดักไขมัน เนื่องจากเป็นสถานที่คับแคบกว่าในบ้านหรือในร้านอาหาร 3.รถ โครงสร้างต้องมั่นคงปลอดภัย เช่น การดัดแปลงสภาพ ต่อเติมตู้ ติดตั้งระบบแก๊ส 4.ตลาด ทั้งกลยุทธ์การขายและการหาสถานที่ขายที่ต้องสอดคล้องกับหลักสุขอนามัย
ชนินทร์ ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ฟู้ดทรัคสัญชาติไทยจะไม่ได้ทำมาหากินอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากฟู้ดทรัคคลับประเทศไทยมีแผนพาคนกลุ่มนี้ออกไปอวดโฉมในต่างแดน เช่น ที่เมือง ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอนาคตอาจมีผู้ประกอบการชาวไทยขยายกิจการกลายเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบสำเร็จรูป สูตรอาหาร หรือเป็นผู้รับจ้างผลิตก็เป็นได้ แต่สิ่งที่ย้ำกับสมาชิกอยู่เสมอคือ "ขอให้ทำทุกอย่างให้ถูกต้อง" เช่น ผู้ประกอบอาหารสวมหมวกและถุงมือ อย่าไปตั้งร้านในพื้นที่ห้ามจอด เป็นต้น
"ปัจจุบันอีกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่คือโครงการสตาร์ทอัพฟู้ดทรัค (Start Up Food Truck) ซึ่งจัดโดยสถาบันอาหาร ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นการเปิดตัวที่จะทำให้บุคคลทั่วไป รวมถึงเจ้าของร้านอาหาร ร้านค้าแผงลอยหรือสตรีทฟู้ด ได้เข้ามาสู่การเป็นฟู้ดทรัค ยกระดับให้เกิดสุขอนามัยที่ดีและมีมาตรฐาน เรามองว่าเจ้าของรถฟู้ดทรัคมันเป็นการยกระดับขึ้นมา คุณไม่ใช่พ่อค้า-แม่ค้าอีกต่อไป แต่คุณคือเจ้าของกิจการ คือเจ้าของธุรกิจ" ผู้ก่อตั้งฟู้ดทรัคคลับประเทศไทย กล่าวในท้ายที่สุด