ฟู้ดดีลิเวอรี พร้อมส่งทุกออเดอร์ ในช่วงโควิด-19
ที่มา : ผู้จัดการสุดสัปดาห์
แฟ้มภาพ
ระหว่างที่ทุกคนอยู่บ้านเพื่อชาติ ตอบรับนโยบายรัฐเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สมรภูมิ "ฟูดดีลิเวอรี" กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แอปพลิเคชันฟูดดีลิ เวอรี รวมทั้ง รถพุ่มพวงหรือ รถกับข้าวเร่ ได้กระแสตอบรับล้นหลามดีเกินคาด มีลูกค้าเพิ่มขึ้น รายได้สูงขึ้นเท่าตัว
ทั้งนี้ หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) หรือ โควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายขยายวงกว้าง ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติสั่งปิดห้างสรรพสินค้า สถานที่เสี่ยงต่างๆ หลายแห่ง ตามมาตรา 35 พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.2563
ในส่วนธุรกิจร้านอาหารร้านเครื่องดื่มต่างๆ ทั้งในและนอกห้างฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการบางส่วนปรับรูปแบบปิดพื้นที่รับประทานในร้านเหลือเพียงการซื้อกลับบ้าน (Take away) ดิ้นสู้ตลาดดีลิเวอรี (Delivery) ชดเชยรายได้หดหายไปจากหน้าร้าน จับมือพาร์ตเนอร์ในวงการดีลิเวอรีที่มีอยู่หลายเจ้าฝ่าวิกฤตโควิด-19
อย่างไรก็ดี นอสตร้า โลจิสติกส์ เปิดเผยว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาด ทำให้ยอดสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 80% ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคหลีกเลี่ยงแหล่งชอปปิ้งที่แออัดหันมาเลือกสั่งสินค้าออนไลน์ สอดคล้องกับ ผลสำรวจของ กสทช.ที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากผู้ใช้งาน แอปฯ ของสำนักงาน กสทช.พบว่า เดือน ก.พ. 2563 จำนวนประชาชนสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ม.ค. 2563 กว่า 80%
เหล่านี้เป็นปัจจัยส่งผลให้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจฟูดดีลิเวอรีแอปพลิเคชัน (Food Delivery Application) ที่ให้บริการส่งอาหารอย่าง ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด, ฟู้ดแพนด้า, เก็ท ฯลฯ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพราะตอบโจทย์ชีวิตผู้คนได้เป็นอย่างดีในช่วงไวรัสระบาดไม่อยากออกไปไหน ต้องการอยู่บ้านเพื่อชาติ ตลอดจน รถพุ่มพวง หรือรถกับข้าวเร่ตามชุมชน ที่จำหน่ายของสดของแห้ง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ข้าวสาร ฯลฯ ที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าปริมาณมากขึ้น นอกจากขาประจำยังมีขาจรแวะมาอุดหนุนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ามีใช้บริการฟูดดีลิเวอรีมากขึ้น เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมือหยุดอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องดูแลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยทั้งเรื่องการปรุงอาหาร การเลือกภาชนะในการจัดส่ง เช่นเดียวกับ ผู้ให้บริการจัดส่งดีลิเวอรี ต้องคำนึงในเรื่องการดูแลความสะอาดก่อนปฏิบัติงานทุกครั้งต้องล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือรถที่ส่งอาหารจะต้องมีตัวกล่องที่ใส่เก็บอุณหภูมิอาหารต้องทำให้อาหารอยู่ในภาชนะที่มิดชิด เพื่อสุขลักษณะที่ดี
รวมทั้งเน้นย้ำการป้องกันและการจัดส่งอาหารปลอดภัยในธุรกิจฟูดดีลิเวอรีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 โดยกำหนดข้อแนะนำ 8 ข้อควรปฏิบัติสำหรับพนักงานส่งอาหาร ดังนี้
1. รักษาความสะอาดของร่างกาย
2. สวมหน้ากากอนามัย
3. พกเจลแอลกอฮอล์และล้างมือทุกครั้ง
4. ทำความสะอาดอุปกรณ์เก็บอาหารอยู่เสมอ
5. แยกเก็บอาหารเป็นสัดส่วน ระหว่างอาหารปรุงสุกกับเครื่องดื่ม
6. ไม่เปิดอาหารก่อนส่งลูกค้า
7.ส่งอาหารทันทีเพื่อความสดใหม่
8. ผู้ส่งและผู้รับควรมีระยะห่างกันและเลือกใช้ระบบจ่ายเงินออนไลน์ทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในวงเสวนา เรื่อง การสั่งอาหารออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 กล่าวว่าร้านอาหารที่มีใบอนุญาตและเข้าสู่ระบบของการส่งอาหารของผู้ให้บริการขอให้ยึดหลักตามกระทรวงสาธารณสุขเรื่องของความสะอาดทั้งอุปกรณ์ คนครัว การสวมหมวกป้องกัน การประกอบอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ทางกรมอนามัยก็ได้มีการพูดคุยกับให้บริการส่งอาหาร โดยมีกฎพนักงานและดูแลความสะอาดก่อนไปปฏิบัติงานต้องล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากาก ดูแลความสะอาดเรื่องอุปกรณ์เก็บอาหาร ส่งอาหารทันทีที่ทำเสร็จ พยายามรักษาระยะเวลาจากจุดรับอาหารไปถึงจุดที่ส่งอาหาร รักษาระยะห่างระหว่างคนส่งและคนรับ รณรงค์ให้จ่ายผ่านแอปฯ งดจ่ายเงินสดป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น
"ร้านอาหารที่อยู่ภายใต้กฎของกระทรวงสาธารณสุข เรามีแนวทางแนวปฏิบัติและสั่งการไปยังท้องถิ่นให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและสุ่มตรวจเรื่องการส่งอาหารด้วย เพราะตอนนี้มีร้านอาหารจำนวนมาก ไม่เคยมีบริการส่งอาหารมาก่อน แต่ตอนนี้เขาต้องปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจของตัวเอง เรามีการหารือกับผู้ให้บริการส่งอาหาร ได้เน้นย้ำพูดคุยไปแล้วว่าตอนนี้คุณเป็นคนสำคัญ เพราะเราให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ต้องทำให้เขาปลอดภัยจากการสั่งอาหาร เพราะเป็นจุดสำคัญว่าจะทำอย่างไรที่จะดูแลผู้ส่งอาหารสร้างความมั่นใจว่าผู้ส่งอาหารมีสุขลักษณะที่ดี" พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจ