ฟื้นกรุงรวมกันเราทำได้ เพื่อชุมชนน่าอยู่
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทยขณะนี้จะเริ่มคลี่คลายลง จนเกือบแห้งสนิทในทุกพื้นที่ ซึ่งนับเป็นข่าวดีรับปีใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์หลังจากน้ำลดนี้ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องของการ “ฟื้นฟู”ให้ชุมชน บ้านเรือน กลับมาเป็นเหมือนอย่างเคย เพราะสิ่งที่หลงเหลืออยู่ภายหลังน้ำลด ก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะตามมาด้วยโรคระบาด รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบเองก็ตามที
ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. )กรุงเทพมหานคร หน่วยงาน CSR องค์กรจิตอาสาและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อต้องการช่วยเหลือฟื้นฟูและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ด้วยการจัดกิจกรรมเยียวยาและการบริการด้านต่างๆ พร้อมให้ข้อมูลความรู้ในการดูแลตนเองและการจัดการกับที่อยู่อาศัยภายหลังน้ำลดให้ถูกวิธีและไม่เป็นอันตราย ภายใต้โครงการ “ฟื้นฟูกรุงเทพฯ รวมกันเราทำได้ เพื่อชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน”
โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. )บอกกับเราว่า สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยสกปรก แต่ยังรวมไปถึงการเสียอาชีพที่ใช้สร้างรายได้ในการทำมาหากิน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การฟื้นฟูจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหากสามารถทำได้ครอบคลุมในทุกด้านหรือครบวงจร ก็จะสามารถทำให้ชีวิตผู้ประสบปัญหากลับมามีความสุขได้เช่นเดิม มีทั้งอาชีพใช้เลี้ยงตนเองและมีครอบครัว มีชุมชนที่เข้มแข็งเหมือนเดิมได้
“การที่เราทำโครงการฯนี้ เราอยากจะเห็นการฟื้นตัวของชุมชนโดยชุมชนเอง เห็นกระบวนการฟื้นฟูที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องให้คนในพื้นที่รวมกันคิด กำหนดทิศทางและหาทางออกร่วมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เน้นเป็นสำคัญคือ เมื่อทำแล้วกระบวนการฟื้นฟูจะต้องไปข้างหน้า เพราะถ้าคิดแล้วอยู่ที่เดิมก็จะไม่สามารถยั่งยืนได้ อีกทั้งต้องคิดแบบป้องกันอีกด้วย เพราะต่อจะให้เกิดภัยใดๆ อีกสักกี่ครั้งก็ย่อมผ่านมันไปได้ ถ้าเราฟื้นฟูไปพร้อมกับป้องกันก็จะเป็นทางออกดีที่สุด” ทพ.กฤษดากล่าว
ทพ.กฤษดากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สสส.มีแผนที่จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูชุมชนทั้ง 1,000 ตำบลที่เจอปัญหาน้ำท่วมใน 26 จังหวัด แต่ในส่วนของ กทม.นั้น จะเลือกบางพื้นที่เพื่อสร้างให้เป็นโมเดลต้นแบบในการฟื้นฟูชุมชน ที่เน้นการจัดการให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และเมื่อเกิดเป็นโมเดลที่ดี กทม.หรือหน่วยงานอื่นๆ ก็จะสามารถเอาแบบอย่างนี้ ไปใช้ในทุกๆ พื้นที่ที่ประสบปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. บอกว่า การเริ่มฟื้นฟูในครั้งนี้ ได้เลือกชุมชนเขตภาษีเจริญเป็นชุมชนนำร่อง เพราะมีการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ตอนน้ำเริ่มท่วมแล้วจึงอยากดำเนินการให้เสร็จสิ้น โดยโครงการครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นเราอยากมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูชุมชนเขตภาษีเจริญทันทีหลังน้ำลด โดยเฉพาะการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะตกค้างจำนวนมหาศาล ซึ่งจากการประเมินพบว่าเขตนี้มีขยะตกค้าง ประมาณ 2,000 กว่าตัน ในเวลา 2 เดือนกว่าที่น้ำท่วม โดยมีทั้งขยะมีพิษ ขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นขยะที่มีวัสดุเป็นไม้ย่อยสลายยากและชิ้นใหญ่ นอกจากนี้ยังมีขยะจำพวกที่สามารถรีไซเคิลได้อีก เช่น ขวดพลาสติก แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บและแยกให้เป็นที่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเวลาผ่านไป 3-7 วัน มันก็จะส่งผลให้เกิดวงจรโรคระบาดต่างๆ ตามมา เป็นผลเสียแก่สุขภาพคนในชุมชนได้
“เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ปัญหาเช่นนี้ การจะรอแต่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาทำอย่างเดียว คงไม่มีทางสำเร็จเพราะขยะมันมีมากเกิน ตกค้างมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีขยะออกมาจากบ้านอีกจำนวนมาก เพราะการเก็บกวาดบ้านของประชาชนหลังน้ำลด และนี่เองที่เป็นสิ่งที่ สสส.และภาคีตระหนักจึงจับมือกันมาทำงานกับชุมชน โดยยึดหลักชุมชนต้องช่วยตัวเอง แล้วเรามาช่วยเสริม จึงเกิดเป็น “ปฏิบัติจัดการขยะให้เป็นศูนย์” โดยกำหนดงานครั้งนี้จบภายในวันที่ 12 ธ.ค. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป” รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว
รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวต่อว่า การจัดการขยะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีระบบจัดการหลายขั้นตอน เช่น บางพื้นที่ต้องใช้รถเล็กเข้าไปเก็บขยะจากในบ้าน เพราะรถใหญ่เข้าไม่ได้ เราต้องร่วมมือกันออกแบบ วางแผนการจัดการในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของซาเล้ง รถเข็นที่จะใช้เข็นขยะ ต้องกำหนดจุดที่ชาวบ้านจะเอาขยะมากองร่วมกัน ในวันเวลาเดียวกันและเก็บไปพร้อมกัน มีการกำหนดพื้นที่ ที่จะเอาขยะชิ้นใหญ่ไปทิ้ง เช่น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ มีแผนกถอดตะปู ทุบทำลาย เป็นต้น
“ทั้งหมดนี้หากเราทำให้เขตภาษีเจริญเป็นโมเดลต้นแบบได้ เขตอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ก็ต้องทำได้เช่นกัน ในระยะยาว สสส. เองมียุทธศาสตร์พื้นที่สุขภาวะ เป็นยุทธศาสตร์หลักอยู่แล้ว เราจึงใช้จุดนี้ในการฟื้นฟูชุมชนและนำไปสู่การปรับผังเมืองให้เป็นเมืองสุขภาวะต้นแบบ ในอนาคตจะเชิญชวนภาคีจำนวนมาก มาทำงานฟื้นฟูร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคีด้านศิลปะ ด้านออกกำลังกาย ด้านเด็กเยาวชน เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้านให้มากที่สุด”รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว
นอกจากเรื่องของขยะแล้ว เรายังมีกิจกรรมฟื้นใจ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพใจด้วยการหัวเราะบำบัด ศิลปะบำบัด กิจกรรมเส้นทางอาชีพ เป็นการอบรมอาชีพต่างๆ ตลาดนัดแรงงานเพื่อผู้ประสบภัย กิจกรรมบ้านคิดดี จัดแสดงและสาธิตให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การแยกขยะ การทำ EM ball และอื่นๆอีกมากมาย
สุดท้ายนี้ รศ.ดร.วิลาสินีได้บอกทิ้งท้ายไว้ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่จะอยู่แบบสบายๆ อีกแล้ว เราอาจจะเจอภัยอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เราจึงต้องมีการปรับวิธีคิด ปรับวิถีชีวิต การจะอยู่รอดได้ เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และต้องมีองค์ความรู้ ว่าเราจะดูแลกายและใจอย่างไรในภาวะเช่นนี้ พยายามสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะอยู่คนเดียวไม่รอดแน่ เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถผ่านพ้นภัยพิบัติต่างๆไปได้
ทั้งนี้กิจกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย นอกจากเขตภาษีเจริญแล้ว ยังมีการกระจายไปโดยรอบ โดยแบ่งเป็นจำนวน 2 รอบ รอบละ 6 เขต รอบแรกจัดขึ้นที่ เขตหลักสี่ ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ เขตคลองสามวา โรงเรียนบางชัน เขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขตจอมทอง วัดหนังราชวรวิหารและเขตหนองจอก ศูนย์การค้าเทสโก้โลตัส ระหว่างวันที่ 7-12 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น. ส่วนในรอบที่ 2 นั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 15-19 ธ.ค. ที่เขตคันนายาว เขตบางกอกน้อย แมคโคร จรัญสนิทวงศ์ เขตบางแค โลตัส เขตทวีวัฒนา ลานตรงข้ามสวนสุขภาพ เขตสายไหม วัดหนองใหญ่และเขตหนองแขม สำนักงานเขต
การจะทำอะไรให้เสร็จสมบูรณ์และยังยืนนั้น จำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจกันทำจึงจะสำเร็จได้ การฟื้นฟูชุมชนก็เช่นกัน ต้องอาศัยมือหลายๆคู่ ในการช่วยกันทำ เพื่อชุมชนเราจะได้กลับมามีความสุขเหมือนเดิม
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th