‘ฟาร์มสร้างสุข’ เปลี่ยนพื้นที่เคมี เป็นพื้นที่สร้างสุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
พื้นที่ 30 ไร่ บริเวณคลอง 13 จังหวัดปทุมธานี ที่หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่หมดโอกาสต่อการปรับปรุงพัฒนา แต่ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบและให้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับปรุงพัฒนาเพื่อนำผลผลิตส่งต่อไปสู่ผู้ป่วย และบุคลากร โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ปลอดสารเคมี
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีวิสัยทัศน์ คือ เป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในระดับสากล โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ภารกิจของคณะฯ มี 3 ด้าน ได้แก่ การฝึกอบรมบุคลากรออกไปรับใช้สังคมในด้านการแพทย์ หากไปรักษาสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่ใช่การเป็นหมอที่ดี ดังนั้นการเข้าใจระบบเกษตรของประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ภารกิจต่อมาคือ งานวิจัย ที่ต้องทำร่วมกับเอกชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภารกิจสุดท้าย คือมีหน้าที่ให้การบริการวิชาการ ฟาร์มแห่งนี้ มีการสร้างความรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ชุมชน รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยหวังว่า การพัฒนาในครั้งนี้เป็นประโยชน์และเป็นส่วนเสริมให้รามาธิบดี เป็นคณะแพทย์ ชั้นนำในระดับสากลต่อไป
แต่ความตั้งใจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายปีที่ผ่านมา กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเช่นนี้ก็มีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่า จะเป็น ดินเค็ม น้ำไม่เพียงพอ จึงเริ่มจากการพัฒนา ปรับปรุงดิน ปลูกผัก จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสสส. กล่าวว่า อาหารคือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง การดูเรื่องอาหารของ สสส. ต้องดูตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือตั้งแต่ ฟาร์มจนถึงปาก ไม่ได้ทำเพียงลดหวานมันเค็มเท่านั้น แต่ดูที่ต้นทางที่จะสามารถพัฒนาให้เกิดแหล่งปลูกผักผลไม้ที่ปลอดภัย อยู่ในระบบเกษตรได้อย่างสมดุล
"ปัจจุบันถือว่ามีผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อ ให้ฟาร์มยั่งยืนและเพิ่มผลผลิต ให้มากกว่านี้ ในระยะต่อไป จะขยายแนวคิดนี้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ที่สนใจ เราหวังว่าที่นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่แสดงต่อทุกคนให้เข้ามาเรียนรู้ และเอาไปปรับใช้สำหรับพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สามารถเอามาปลูกผักผลไม้เพื่อที่จะบริโภคได้ เช่น ฟาร์มสร้างสุขแห่งนี้" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ฟาร์มแห่งนี้เริ่มต้นจากการได้รับที่ดินบริจาค เป็นพื้นที่เคมีและพื้นที่ดินเปรี้ยว ได้รับการปรับพื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยในพื้นที่ 30 ไร่ แบ่งเป็นปลูกไม้ยืนต้น 5 ไร่ ปลูกผักและอื่น ๆ 10 ไร่ เป็นพื้นที่นา 5 ไร่ และพื้นที่น้ำ 10 ไร่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่อาคารอเนกประสงค์ แปลงสาธิต โซนปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด เล้าเลี้ยงไก่บนแคร่ และแปลงผักสวนครัว
ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร ผู้รับผิดชอบ โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี กล่าวว่า เบื้องต้นได้ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ศิษย์เก่า แพทย์รามาธิบดี และปราชญ์ชาวบ้าน ภาคอีสาน คือ พ่อคำเดื่อง ภาษี ช่วยแก้ไขและปรับพื้นที่ ผลผลิตที่ได้จะนำเข้าครัวรามาธิบดี ซึ่งคิดจากเมนูอาหาร รวมถึงวิเคราะห์พื้นที่ที่ปลูกว่าเหมาะสมกับอะไรและปลูกให้ตรงกับความต้องการ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ เป็นคนในชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน
"ภาคความร่วมมือของนักศึกษา ในคณะฯ เป็นเพียงแค่กิจกรรมอาสา และกิจกรรมบางส่วนที่เป็นบางรายวิชา แต่ในเร็ว ๆ นี้กำลังบรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไปในวิชาหลักของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะมองว่าใช้เกษตรเป็นทางผ่านในการให้เขาเหล่านั้นเรียนรู้ชีวิตและได้ถอดบทเรียน ก่อนให้พวกเขาลงไปสู่การทำงานจริง" ดร.นรีมาลย์ กล่าว
"มาถึงวันนี้เห็นต้นไม้ทุกอย่าง มันใหญ่ขึ้น ดินดีขึ้น ทุกอย่างพัฒนาขึ้น ทั้งหมด เห็นทีไรเราก็รู้สึกภูมิใจ" นี่คือความรู้สึกของ นางสาวรัตน์ปราณี กรมไทยสงค์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญประจำฟาร์ม โดยกล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของฟาร์มและช่วยบริหารจัดการภาพรวมภายในฟาร์ม เข้ามาเริ่มต้นในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่แรก พยายามแก้ปัญหาเรียนรู้เพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ โดยใช้หลักเกษตรประณีต คือ ทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยในบริบทของฟาร์มนั้น หลักการประณีต คือพื้นที่มากน้อยแค่ไหนก็ตาม ต้องบริหารให้ใช้พื้นที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น แทนที่จะได้พืชชนิดเดียว แต่ได้พืชชนิดอื่นมากยิ่งขึ้นด้วย พื้นที่ไม่ถูกว่างเปล่าและไม่เสียเวลารอ ทำให้มีกำลังใจในการเก็บผลผลิตมากยิ่งขึ้น
นอกจากผลผลิตแล้ว ปัจจุบันฟาร์มสร้างสุขยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา องค์กร และประชาชนทั่วไป ในการปลูกผักและสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งยังเป็นต้นแบบและกำลังใจสำคัญ ให้อีกหลาย ๆ พื้นที่ที่ต้องการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์อีกด้วย