ฟังเสียงวัยรุ่น ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่เข้าใจ?
เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานรณรงค์ในวันเยาวชนแห่งชาติ “WHY? ทำไม? ไม่เข้าใจวัยรุ่น”
ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเข้าใจในพฤติกรรมและความคิดของวัยรุ่นกลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังคงมีช่องว่างระหว่างวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่วัยรุ่นเผชิญ เช่น การสูบบุหรี่ การพนัน หรือการใช้ความรุนแรง
งานรณรงค์ในวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน 2567 หัวข้อ “WHY? ทำไม? ไม่เข้าใจวัยรุ่น” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของวัยรุ่น ผ่านกิจกรรม ตั้งแต่นิทรรศการ บูธฮีลใจให้คำปรึกษา ไปจนถึงละครเวที ล้วนเป็นเรื่องชวนคิดและท้าทายสังคมยุคใหม่มิใช่น้อย
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวในงานว่า วัยรุ่นมักเผชิญกับแรงกดดันจากสิ่งรอบตัว ทั้งจากครอบครัว สังคม และสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งความไม่เข้าใจระหว่างผู้ใหญ่และวัยรุ่นอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง อย่างบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการพนัน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขา
จากข้อมูลการสำรวจในปี 2564 แม้จำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่จะลดลง แต่ยังคงพบว่ายังมีวัยรุ่นหน้าใหม่ที่เริ่มสูบบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า หลายคนเริ่มสูบจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบข้างและสื่อโซเชียลที่เข้าถึงได้ง่าย
ปัญหาหลายอย่างของวัยรุ่นมักเกิดจากการขาดความเข้าใจ เช่น น้องธีร์ (นามสมมติ) อดีตเด็กเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจฯ โตมาในชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ ถูกพ่อแม่เปรียบเทียบกับลูกบ้านข้าง ๆ ซึ่งทำให้เขาเติบโตมาโดยกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ในการขอคำปรึกษาดำเนินชีวิต
ซึ่งหลายครั้งรุ่นพี่เหล่านั้น ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหา ความต้องการการยอมรับจากเพื่อน ๆ ทำให้เขาต้องทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง รวมถึงการใช้ความรุนแรงจนสุดท้ายถูกจับคดี ทำให้เข้าสถานพินิจ “บ้านต้นทาง” โดนคดีจากความรุนแรง ใช้ความรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็ใช้ความรุนแรงทำร้ายคนอื่นด้วย
“ครั้งแรกในชีวิตที่ครอบครัวอบอุ่น ทำให้ได้ลองรู้จักกับ เกมการ์ด Empower ทำให้เกิดการทบทวนตัวเอง นอกจากอบรมเปลี่ยนแปลงให้เราให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ พ่อ แม่ ได้เรียนรู้ที่จะรับฟังและเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องเผชิญ เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อลดเสี่ยงที่จะผลักลูกให้ทำผิดซ้ำเช่นกัน” น้องธีร์ กล่าว
เช่นเดียวกับ น้องแพท (นามสมมติ) ได้แบ่งปันประสบการณ์การเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่ ม.ต้น แรกนั้นเธอเคยคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องธรรมดา จนมาถึงช่วง ม.ปลาย ที่เริ่มรู้สึกว่าบุหรี่ไม่ได้มีประโยชน์อะไร จึงพยายามเลิกสูบ แต่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็กลับมาสูบอีก แต่คราวนี้เป็นบุหรี่ไฟฟ้า
และเล่าถึงประสบการณ์การเลิกสูบบุหรี่ แม้ว่าเธอจะกลับไปสูบอีกครั้งในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความตั้งใจที่จะเลิกสูบ ทำให้เธอสามารถลดจำนวนการสูบลงได้ เธอยังฝากเตือนถึงเพื่อนๆ ว่า “การสูบบุหรี่ไม่มีประโยชน์และไม่จำเป็นต้องลอง เพราะผลเสียที่ตามมานั้นมากกว่าที่คิด”
มุมมองจาก แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565 ได้เล่าว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เธอยังเด็ก ใช้ชีวิตกับพ่อที่ทำงานเป็นพนักงานเก็บขยะ แต่ไม่เคยรู้สึกอายกับชีวิตนี้ กลับภาคภูมิใจ เพราะการเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ท้าทาย ทำให้เธอมีแรงบันดาลใจจากความยากลำบาก เป็นความแข็งแกร่งและสามารถก้าวมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ได้
เธอย้ำถึงความสำคัญของการฟังเสียงวิจารณ์และใช้มันเพื่อพัฒนาตนเอง ในท้ายที่สุดเธอให้กำลังใจเด็กและเยาวชนว่า “ทุกปัญหามีทางออก ขอให้สู้ต่อไป อย่ายอมแพ้”
อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวอย่างมากมายจากคนดังระดับโลก ที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ท้าทาย เผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน แต่ยังสามารถฝ่าฟันปัญหาและประสบความสำเร็จได้ อาทิ
เอ็มมิเนม (Eminem) แร็ปเปอร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อ-แม่ แยกทางกัน เขาอาศัยอยู่กับแม่ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความยากจนในวัยเด็ก เคยใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เป็นทางออกในการรับมือกับความเครียด แต่ได้ครอบครัวและลูกสาวของเขา ไฮลี เจด (Hailie Jade) โปรดิวเซอร์ชื่อดังของวงการฮิปฮอปและแร็ปเปอร์ เข้ามาเป็นแรงบันดาลใจช่วยให้เขาฟื้นตัวเปลี่ยนแปลงชีวิต และกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการฮิปฮอป
เอ็มมิเนม เคยกล่าวถึงความสำคัญของการเป็นพ่อ และเขาต้องการทำให้ชีวิตของลูกสาวเขาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการรับฟังและเข้าใจเพื่อดูแลลูกได้อย่างมีคุณภาพ
ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) นักร้องและนักแสดงที่เริ่มต้นเส้นทางในวงการบันเทิงตั้งแต่เด็กผ่านซีรีส์ดิสนีย์ “Hannah Montana” ทำให้เธอต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสื่อและชื่อเสียงที่มากเกินไป จนเข้าไปพัวพันกับสารเสพติดและการใช้ชีวิตแบบไร้การควบคุม ในที่สุดบิลลี่พ่อของไมลีย์ เป็นนักดนตรีชื่อดัง ได้มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเธอ โดยได้เป็นที่ปรึกษาที่ดี และช่วยสนับสนุนเธอเสมอเมื่อเธอต้องเผชิญกับการวิจารณ์จากสื่อและสังคม
ซึ่งในที่สุดเธอสามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง หันกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและการทำงานเพื่อสังคม ปัจจุบันเธอเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและสัตว์
การจัดงานของ สสส.-มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว -เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อเน้นย้ำถึงการเปิดใจพูดคุยและรับฟังเสียงของวัยรุ่น ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนไม่ซ้ำเติม และแสดงออกเชิงบวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านช่วงวัยที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง จึงเป็นความสำคัญที่ต้องเดินหน้าต่อไป