พ.ร.บ.ตั้งครรภ์ กับเสียงวัยรุ่นในสังคม

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


พ.ร.บ.ตั้งครรภ์ กับเสียงวัยรุ่นในสังคม thaihealth


ท้องในวัยเรียน ปัญหาของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ และหาทางออกให้คุณแม่วัยรุ่นได้มีที่ยืนในสังคมโดยไม่ถูกรังเกียจ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นแบบอย่างแก่เพื่อนๆ ด้วย


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส) มูลนิธิ แพธทูเฮลท์ (P2H : Path2Health Foundation) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร จัดงานแถลงข่าว พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : เด็กเยาวชนได้ประโยชน์จริงหรือ? เมื่อกฎหมายตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา


สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่บนสิทธิประโยชน์เด็กเยาวชน 5 ประการ คือ 1.การเปิดให้ทุกคนได้เรียนเพศศึกษาที่สอดคล้องกับวัยและนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง 2.วัยรุ่นที่ตั้งท้องสามารถเรียนต่อจนจบได้ โดยไม่ต้องพักการเรียนหรือถูกบังคับให้ย้ายไปเรียนที่อื่น 3.วัยรุ่นสามารถใช้บริการจากคลินิกสุขภาพทางเพศได้อย่างมั่นใจว่า ความลับจะไม่ถูกเปิดเผย ไม่ต้องอาย และสามารถตัดสินใจเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ ผู้ปกครองยินยอม 4.วัยรุ่นมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา เกี่ยวกับการตั้งครรภ์เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและ 5.วัยรุ่นที่เป็นพ่อแม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพ


ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน การควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. สะท้อนว่า จากที่ สสส. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากเด็กเยาวชน ใน 5 ภูมิภาค จำนวน 3,053 ตัวอย่าง ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า สิ่งที่เด็กเยาวชนต้องการมากที่สุดคือ 1.การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาอย่างรอบด้านและวิธีการคุมกำเนิด 2.โรงเรียนต้องประสานหรือหาแหล่งช่วยเหลือด้านสังคมและ 3.การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ส่งต่อระบบสวัสดิการสังคม


สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้โรงเรียนจะสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนแล้วก็ตาม แต่ความรู้เหล่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การ มีทักษะชีวิตและการป้องกันได้อย่างแท้จริง ที่น่าสนใจ คือ หากสังคม เพื่อน โรงเรียน และครู พร้อมให้โอกาสจะมีเยาวชน 50% เลือกที่จะเรียนต่อจนกว่าจะคลอดส่วนอีก 43.6% เลือกที่จะลาพักเพื่อคลอดก่อนแล้วกลับมาเรียนต่อเท่ากับว่าจะช่วยลดปัญหาการ "ลาออกกลางคัน" ของเด็กเยาวชน เพราะมีเด็กเยาวชนถึง 93% เลือกที่จะกลับเข้ามาเรียนต่อแม้ครั้งหนึ่งเคยก้าวพลาดไปก็ตาม


พ.ร.บ.ตั้งครรภ์ กับเสียงวัยรุ่นในสังคม thaihealth


ภัทรวดี ใจทอง หรือ แนน รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า ครูจำนวนมากไม่สอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนและมีทัศนคติที่ไม่ดีมองว่านักเรียนที่มาปรึกษาคือตัวปัญหาครูและผู้บริหารสถานศึกษาต้อง "เปิดใจ" พร้อมที่จะสอนและมีความรู้ ความเข้าใจ "ครูต้องไม่มองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะหากกระรอกเดินในทางที่ผิดแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร โรงเรียนควรจัดให้มีแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อนกรณีที่เด็กไม่กล้ามาปรึกษากับครูโดยตรง มีห้องให้ คำปรึกษาคล้ายกับคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล และในกรณีที่เด็กเยาวชนไม่พร้อมที่จะเรียนควรออกแบบรูปแบบการเรียนเป็นรายบุคคล"


ด้าน มณฑล กิจวิทยาพงศ์ หรือ หมูหยอง ตัวแทนเครือข่าย ยุวทัศน์กรุงเทพฯ มองว่า กฎหมายนี้จะเกิดประโยชน์จริงต้องสื่อสารให้เด็กเยาวชนได้รับรู้ถึงสิทธิของตนเอง รวมถึงผู้ปกครองและหน่วยงานในระดับปฏิบัติที่ต้องรับรู้ร่วมกัน ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติกันอย่าง ต่อเนื่อง รวมถึงสื่อจะมีอิทธิพลสำคัญที่จะช่วยลดการตีตราเด็ก พร้อมกับเป็นสื่อกลางให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา


ถึงเวลาที่สังคมต้องกล้ายอมรับความจริง ไม่หนีปัญหา แต่ต้องพร้อมยืนเคียงข้าง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีที่ยืนตั้งหลัก ก่อนเดินไปข้างหน้าด้วยก้าวใหม่ที่แข็งแรงขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code