พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบสกัดนักสูบหน้าใหม่

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thaipost.net


พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบสกัดนักสูบหน้าใหม่ thaihealth


บุหรี่กลายเป็นสินค้าต้องห้ามในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากพิษภัยของมันเป็นเหตุให้ผู้เสพและผู้ได้รับควันร้ายต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ


อาทิ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง โรคแผลในกระเพาะอาหาร และส่งผลร้ายต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น จนสุดท้ายผู้ที่ได้รับควันมรณะต้องเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมาน ยังไม่นับค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาตัวที่ต้องสูญเปล่าไปด้วย


ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกือบทั่วโลก พยายามรณรงค์ให้ประชาชนของตัวเองลด ละ เลิกเสพบุหรี่ให้ได้ และในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เกี่ยวข้องแล้ว เหลือเพียงรอการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จากนั้นจึงส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ จึงมีผลบังคับใช้ต่อไป


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า บริษัทบุหรี่พยายามจะใช้กลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณนักสูบหน้าใหม่ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงขอวิงวอนให้ผู้ที่กำลังพิจารณากฎหมายดังกล่าว รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ อย่าหลงเชื่อและหลงกลอุบายต่างๆ


เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพราะว่ากฎหมายเดิมคือ  พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ได้บังคับใช้มากว่ายี่สิบปีแล้ว


ในขณะที่บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบให้สอดคล้องกับอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 179 รัฐภาคี ที่ต้องควบคุมการทำการตลาดของบริษัทบุหรี่


สำหรับประเด็นที่เพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ คือมีการแก้ไขคำนิยามให้ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ อาทิ คำว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ"  ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า  บารากู่ และคำว่า "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล "พริตตี้", ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ "กิจกรรมเพื่อสังคม" (CSR) ของบริษัทบุหรี่ ในทุกสื่อ (ปัจจุบันห้ามเพียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์)


ที่สำคัญได้เพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน คือห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี), ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ปัจจุบันมีนโยบายห้าม แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ), ห้ามขายบุหรี่ซิกาแรต หรือใบยาแห้งหรือยาอัดซึ่งมวนด้วยใบยาแห้งหรือยาอัด ที่บรรจุซองน้อยกว่ายี่สิบมวน และห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรตเป็นมวนๆ (ปัจจุบันห้ามอยู่แล้ว แต่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน)


เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะส่งผลดีคือ จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ลดลง, จะมีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น,รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากขึ้น, ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบได้ และไม่ขัดต่อกฎระเบียบต่างๆ ขององค์การการค้าโลก และตลาดบุหรี่ซิกา   แรตจะไม่สามารถขยายตัวได้ หรือมีขนาดค่อยๆ เล็กลง ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบจะขยายตลาดได้ยากขึ้น


"มาตรการที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ล้วนเป็นมาตรการสากลที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ที่ประเทศไทยรวมทั้ง 178 ประเทศ เป็นรัฐภาคีและเป็นมาตรการที่ประ เทศต่างๆ เขาทำกันอยู่แล้ว เพื่อคุ้มครองเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่กำลังมีการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็ได้รับแรงต้านจากบริษัทบุหรี่ และนอมินีของบริษัทบุหรี่ เราจึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลและ สนช.ร่วมกันผลักดันกฎหมายนี้โดยเร็วเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต" เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเรียกร้อง


หากผู้ใหญ่ในยุคปฏิรูปประเทศ สามารถเร่งรัด ผลักดันกฎหมายนี้ให้มีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว ก็เชื่อว่าสถานการณ์การตกเป็นเหยื่อจากพิษภัยบุหรี่ของคนไทยจะดีขึ้น โดยเฉพาะช่วยป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ และประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขได้อีกมาก

Shares:
QR Code :
QR Code