พ่อแม่ 50% ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด "เวทีสานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา" ร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย การเรียนรู้เสริมสร้างสติปัญญาด้วยสนามเด็กเล่น และมีการจัดการความรู้ทักษะชีวิตและความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของเด็กประถมศึกษา
โดย น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ครอบครัวของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จาก 2,148 องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่ามีเด็กปฐมวัยไม่เกิน 3% ซึ่งเด็กอยู่กับพ่อและแม่ 28.35% อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย 43.38% และอยู่กับบุคคลอื่น หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว 28.27% ซึ่งมีปัญหาการเจริญเติบโต พัฒนาการล่าช้า ปัญหาการเจ็บป่วย ขาดผู้ดูแลและความรุนแรง
"จากการทำงานในพื้นที่พบว่า มีกรณีเด็กถูกเลี้ยงด้วยโทรศัพท์ ทำให้พูดช้า ก้าวร้าว แต่การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ทำให้เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น เข้ากับเพื่อนได้ มีความก้าวร้าวลดลง สภาพแวดล้อมจึงมีส่วนสำคัญ ดังนั้นการดูแลเด็กไม่ได้เป็นหน้าที่ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ด้วย" น.ส.ดวงพร กล่าว
ดังนั้น การดูแลเด็กปฐมวัย ต้องให้ความรู้ปู่ยาตายาย รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้จากการเล่นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างการมีวินัยทางสังคม มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งหากการเรียนรู้ถูกกระตุ้นด้วยการเล่นในสนามเด็กเล่นที่ออกแบบให้กระตุ้นพัฒนาการของสมองและร่างกาย พัฒนาการทางสังคมที่มาพร้อมปัญญาและอารมณ์ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วย