พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างไร ใน ‘ยุค Gen Z’

         “เด็กยุคนี้จะเกิดและเติบโตมากับพร้อมเทคโนโลยีและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก พวกเขาจะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ชีวิตที่ปราศจากเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไร”


/data/content/25728/cms/e_abfhlpuv2478.jpg


         นิยามของ เด็ก Gen Z (เจเนเรชั่นซี) ที่ “พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร” อาจารย์แพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงเด็กที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2547 –  2553 ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น


          “เพราะการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารตลอดเวลาไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ทั้งยังมีความสบายใจในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นส่วนตัว เช่น การอัพเดทว่าวันนี้ทำอะไร กินข้าวที่ไหน แต่งตัวอย่างไร รวมไปถึงกระทั่งเรื่องเพศที่พูดคุยได้อย่างไม่มีขวยเขินพญ.จิราภรณ์อธิบายเพิ่มเติม


         เด็กยุค Gen Z มีลักษณะอย่างไร?


         “เด็กยุค Gen Z” มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกดีมาก ฉลาดรอบรู้เพราะพวกเขาโตมากับความรู้รอบด้าน สามารถค้นหาข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ อาจจะมีโลกส่วนตัวสูง นึกถึงแต่เรื่องของตัวเองเพราะการติดโซเชียลที่ทำให้ไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จนถูกเรียกอีกอย่างว่าเป็นเด็ก Gen Me (เจเนเรชั่นมี)


         นอกจากนี้ยังเป็นเด็กที่ชอบตั้งคำถาม แบบที่บางครั้งผู้ใหญ่เองก็หาคำตอบให้ไม่ได้ เช่น ทำไมต้องตัดผมสั้น ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน ทำไมต้องรักนวลสงวนตัว เป็นต้น พวกเขามักจะไม่เชื่อในสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ จนทำให้บางครั้งก็อาจใช้ชีวิตในแบบไม่ถูกที่ควรมากนัก


/data/content/25728/cms/e_dekrvx234578.jpg         พ่อแม่จะดูแลลูกยุคนี้อย่างไร?


         พญ.จิราภรณ์แนะนำว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ “ให้ความรักและเวลา” เพราะการทำมาหาเลี้ยงลูกนั้นเป็นหน้าที่ แต่สิ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการคือ ความรัก การเอาใจใส่และการแสดงออกถึงความรัก เช่น การโอบกอด พูดให้กำลังใจ ชื่นชม หาเวลาในการพูดคุย หันหน้าเข้าหากัน


         ต่อมาคือ “เข้าใจวัยรุ่น” ในส่วนนี้จะขอพูดถึงสมองของคนเราจะพัฒนาตามช่วงวัย ส่วนไหนที่ถูกกระตุ้นและใช้บ่อยๆ จะพัฒนาเต็มที่ แต่หากส่วนไหนที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ปลายประสาทส่วนนั้นจะถูกตัดทิ้ง ทำให้เราจำบางอย่างในอดีตไม่ได้ สมองของวัยรุ่นก็เช่นเดียวกัน มีการพัฒนาจากหลังมาหน้า หากในตอนเด็กพวกเขาถูกปลูกฝังในด้านไหน เขาก็จะเป็นคนแบบนั้น (จะเห็นว่าวัยรุ่นที่ท้องก่อนวัยอันควรมักจะมีสิทธิ์ท้องซ้ำ 30%) จนกว่า อายุ 25 ปี สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่คิด วิเคราะห์จึงจะถูกพัฒนา เพราะฉะนั้น วัยรุ่นหรือเด็กก็คือ “เด็ก” อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถคิดอะไรได้เอง โดยไม่มีคำแนะนำ การที่พ่อแม่ไม่เข้าใจจะนำมาซึ่งการสื่อสารทางลบ และเป็นผลให้เกิดปัญหาในครอบครัวต่างๆ ตามมา


         'วัยรุ่นคุณภาพ' สร้างได้…


         อาจารย์แพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ฝากด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการที่พวกเขามี "มีความนับถือในตนเองต่ำ" (Self Esteem) เพราะการตะหนักว่าตัวเองมีคุณค่านั้นสำคัญยิ่งกว่าไอคิว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเลี้ยงดูเชิงบวก เอาใจใส่และให้ความสำคัญ การแสดงออกให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่รัก ชื่นชม เห็นความสามารถของเขา ทำให้เขารู้สึกเป็นที่รัก และนับถือในตนเอง


         สิ่งที่ไม่ลืมคือ “มีความคาดหวังที่เหมาะสม” อย่าคิดว่าลูกคือสมบัติของเราและบังคับให้เขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ การที่เราคิดแบบนี้จะทำให้เราปล่อยวางในบางขณะ ปล่อยให้ลูกเผชิญชีวิตของตัวเองบ้าง  อย่าลืมสร้างทักษะชีวิตให้พวกเขา ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กทุกคนพร้อมที่จะเติบโตมาเป็นเด็กที่ดี หากพวกเขามีเบ้าหลอมที่ดี


         ฉะนั้นพ่อแม่คือตัวอย่างที่สำคัญที่สุด  เพราะสุดท้ายแล้วลูกจะทำตามสิ่งที่เราทำมากกว่าสิ่งที่เราพูด


 


 


         เรื่องโดย  ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code