พูดดีเป็นศรีแก่ปาก

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


พูดดีเป็นศรีแก่ปาก thaihealth


"ปานมณี" นึกไม่ถึงจริงๆ ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ละเอียดอ่อนกับคุณภาพ ชีวิตของมนุษย์อย่างถึงรากถึงโคนถึงเพียงนี้ จากการที่ได้เข้า ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความ รุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2560 ภายใต้แคมเปญ "หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว" เพื่อร่วมสร้างความตระหนักในครอบครัวและสังคม ด้วยการลดการทำร้ายกันด้วยคำพูดที่ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว


สรุปก็คือ สสส.กำลังมองว่า "คำพูด" จะกลายเป็นอาวุธทำลาย ครอบครัวถ้าพ่อแม่หรือคนในครอบครัว พูดโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน


คุณๆ จะ "รู้หรือไม่ว่าคำหนึ่งคำสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตั้งมากมาย" เพราะทุกครั้งที่คุณเปล่งคำพูดออกมาเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นความหมาย น้ำเสียง หรืออารมณ์ จนบางครั้งมันกลายเป็นการสร้างรอยแผลไว้ในใจคนฟังแม้ว่าคุณจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม และรอยแผลที่ว่านี้ยากที่จะสมานให้หายในเร็ววัน เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาจากคนใกล้ชิดหรือคนที่เรารัก มันจะไม่เป็นเพียงรอยแผลในจิตใจเท่านั้น แต่คำเหล่านั้นอาจฝากรอยร้าวไว้ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ตลอดชั่วชีวิต


พูดดีเป็นศรีแก่ปาก thaihealth


ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า การสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ (National Survey) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการสนับสนุนของ สสส. โดยการสำรวจได้สุ่มตัวอย่างครอบครัวทั้งหมด 2,280 ครัวเรือน พบว่า มีครอบครัวกว่าร้อยละ 34.6 ที่ใช้ความรุนแรง ต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว ซึ่งสาเหตุความรุนแรงอันดับหนึ่งคือด้านจิตใจ พบถึงร้อยละ 33 รองลงมาคือด้านร่างกาย ร้อยละ 9 และความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 4 ซึ่งจากการให้ข้อมูลของผู้ประสบปัญหารวมถึงครอบครัวทั่วไปกว่าร้อยละ 82.6 พบว่า เกิดจากการคำพูดที่ดูถูก ขู่ บังคับ พูดจาด่าทอ จนทำให้อับอาย และผู้ประสบปัญหาจะไม่ขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือ หน่วยงานด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ได้ระบุไว้ว่าผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำมีหน้าที่แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการได้


พูดดีเป็นศรีแก่ปาก thaihealth


ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 1) มีความสัมพันธ์กับภูมิภาค ซึ่งภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของความรุนแรงสูงกว่าพื้นที่อื่นถึงร้อยละ 48.1 ซึ่งมาจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีมาตรการป้องกันความรุนแรงและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 2) ปัจจัยเขตที่อยู่อาศัย พบว่าครอบครัวในเขตเมืองมีความชุกในการเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตนอกเมือง เกือบ 2 เท่า และ 3) ปัจจัยลักษณะรายได้ของครอบครัวที่มีรายได้ไม่พอใช้อาจนำไปสู่ภาวะเครียด มีแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงมากขึ้น และการใช้สารเสพติด (สุรา บุหรี่) ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวด้วย


"อยากฝากให้สังคมตระหนักว่า การใช้คำพูดบางคำอาจทำให้คนฟังฟังแล้วเกิดอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบ จนเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง และการตัดสินใจจนถึงแก่ชีวิตตามที่เห็นได้จากสื่อข่าวในช่วงที่ผ่านมา" ศ.นพ.รณชัย ทิ้งท้าย


พูดดีเป็นศรีแก่ปาก thaihealth


สำหรับ 10 คำพูดดีๆ…ที่คน ส่วนใหญ่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว จากการมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,753 คนได้แก่ 1) เหนื่อยไหม 2) รัก 3) มีอะไรให้ช่วยไหม 4) คำชมเชย (เก่ง/ ดี/ เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรนะ 6) สู้ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว 8) คิดถึงนะ 9) ขอบคุณนะ และ 10) ขอโทษนะ ตามลำดับ ส่วน 10 คำพูดร้ายๆ…ที่คน ส่วนใหญ่ไม่อยากได้ยิน ได้แก่ 1)ไปตายซะ 2) คำด่า (เลว/ ชั่ว) 3) แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4) ตัวปัญหา 5) ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ 6) น่ารำคาญ 7) ตัวซวย 8) น่าเบื่อ 9) ไม่ต้องมายุ่ง และ 10) เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง


อย่าลืมว่า!! เพราะความสัมพันธ์ ในครอบครัวเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น การรักษาและการเติมเต็มความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่าให้ความสัมพันธ์ที่แสนมีค่านี้ต้องมีรอยแตกร้าวจากคำพูด ที่ถูกเปล่งออกมาเพียงเสี้ยววินาที แต่อาจบั่นทอนจิตใจไปแสนนานตลอดชีวิต ซึ่งบางครั้งความเข้าใจผิดทางคำพูดอาจไม่ได้เกิดจากความหมาย แต่เกิดจากว่า ใครเป็นคนพูดคำเหล่านั้นออกมาด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code