พื้นที่เล่นสร้างสรรค์ สนามแห่งการเรียนรู้และเติบโตของเด็ก

ที่มา : ข้อมูลจากหนังสือเล่น เพื่อสร้างโลกที่เป็นสุข: แนวทางจัดสภาพแวดล้อมการเล่นสําหรับเด็ก โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

                    พื้นที่ที่ดีไม่ได้จําเป็นต้องมีแต่ของเล่นราคาแพง แต่เป็นพื้นที่ที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การทรงตัว การเข้าสังคม การควบคุมตัวเอง การแก้ปัญหา การใช้ความคิดสร้างสรรค์

                    ซึ่งในสายตาของเด็ก สถานที่เล่นที่สุดแสนวิเศษอาจจะเป็นเพียงสถานที่ธรรมดาในสายตาของผู้ใหญ่ เช่น ใต้โต๊ะหรือใต้บันได เป็นต้น หัวใจหลักของพื้นที่เล่นสร้างสรรค์จึงเน้นไปที่ความมีชีวิตชีวาของสถานที่มีธรรมชาติมีความท้าทายและการผจญภัย โดยจะเป็นพื้นที่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้

องค์ประกอบของพื้นที่เด็กเล่น

                    วัสดุและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เช่น น้ำหิน ดิน ทราย ต้นไม้ สวนดอกไม้ สนามหญ้า หรือสัตว์ต่างๆ เพราะเด็กพัฒนาผ่านการเรียนรู้โลกภายนอก มีความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งธรรมชาติเป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นนั้นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นน้ำ เล่นทราย หรือปีนต้นไม้ เป็นต้น

                    ชิ้นส่วนประกอบการเล่นจากธรรมชาติ ได้แก่ ก้อนหิน ดิน ทราย เมล็ดพืช กิ่งไม้ ใบไม้ ก้านกล้วย ลูกมะพร้าว ฯลฯ• ของใช้ในบ้านที่นํามาดัดแปลง เช่น ขวดน้ำพลาสติก หนังสือพิมพ์ ลังกระดาษ ผ้า เครื่องครัว ฯลฯ• อุปกรณ์ เครื่องมือ งานช่าง งานประดิษฐ์ งานไม้ เช่น พลั่ว ไม้ต่างๆ ตะปู ค้อน เลื่อย ยางรถยนต์ สายยาง ปุ๋ย กระถาง ถุงมือ ฯลฯ

                    การเล่นเป็นของคู่กับเด็กและเด็กจำเป็นต้องได้เล่น เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะสังคม ทักษะอารมณ์ รวมถึงทักษะสติปัญญา อุปกรณ์หรือของเล่นและสภาพแวดล้อมในการเล่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างพื้นที่เด็กเล่น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างพื้นที่เล่นสร้างสรรค์ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของเล่นราคาแพงหรือสนามเด็กเล่นนอกบ้าน

Shares:
QR Code :
QR Code