พื้นที่สุขภาวะ ‘ใต้สะพาน’ ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด 


พื้นที่สุขภาวะ 'ใต้สะพาน' ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน thaihealth


ที่บริเวณใต้สะพานบางขี้แก้ง แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ เมื่อไม่นานมานี้ มีนิทรรศการ "พื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ : แค่คุณปรับ-พื้นที่ก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะ" จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ ชุมชน และภาคีเครือข่าย


กิจกรรมครั้งนี้เพื่อนำเสนอบทเรียน ผลงานเชิงประจักษ์ในการจัดการข้อจำกัดของพื้นที่เมืองให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ในบริบทเขตเมืองที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 4 ปี ซึ่งพื้นที่ใต้สะพานบาง ขี้แก้งแห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่แรกของกรุงเทพมหานคร


พื้นที่สุขภาวะ 'ใต้สะพาน' ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน thaihealth


นางอารมณ์ ยมทอง อายุ 74 ปี ประธานชุมชนเลิศสุขสม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่างเปล่ามีผู้คนนำขยะมาทิ้งบ้าง เมื่อตนเข้ามาเป็นประธานชุมชนก็มีความคิดอยากทำให้บริเวณนี้สะอาด เนื่องจากตรงนี้เหมือนเป็นจุดกึ่งกลางที่คนในชุมชนใช้เป็นทางเชื่อมไปมาหาสู่กันระหว่างสองฝั่งถนน คิดว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ได้ หลังจากนั้น ม.สยาม และทาง สสส.ได้เข้ามาให้คำแนะนำ


เมื่อชาวบ้านเห็นด้วยจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2556 โดยเริ่มจากการจัดสรรพื้นที่ทิ้งขยะให้มีระบบระเบียบมากขึ้น ต่อมาก็หาดินมาถมที่เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้อาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่เล็กน้อย จากนั้นก็ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการประชุมชุมชนไว้เป็นจุดศูนย์กลางในการพบปะกัน หารือการในเรื่องต่างๆ ทั้งการใช้พื้นที่ดังกล่าวออกกำลังกาย


นอกจากนี้ เริ่มการทำเกษตรอินทรีย์หาเห็ดมาปลูก ซึ่งขณะนี้เริ่มที่เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางฟ้าภูฏาน ซึ่งลงทุนไม่มาก แต่เมื่อนำผลผลิตไปขายครั้งแรกจะคืนกำไรได้ทันที เหมาะกับการปลูกไว้ใต้สะพาน เพราะเป็นพื้นที่อับชื้นเห็ดจะเจริญเติบโตได้ดี


พื้นที่สุขภาวะ 'ใต้สะพาน' ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน thaihealth


"ปกติแต่ละบ้านในชุมชนจะปลูกใบเตยขายกันอยู่แล้ว เราก็ใช้พื้นที่ใต้สะพานเป็นแหล่งเรียนรู้ในการมารวมตัวกัน เรียนพับใบเตยในรูปแบบต่างๆ เช่น พวงมาลัย ดอกไม้ กระดาษสา ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการผลิตดอกไม้จันทน์ที่ทำจากใบเตยส่งออกขาย เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่อไปด้วย" นางอารมณ์กล่าว


ประธานชุมชนเลิศสุขสม บอกด้วยว่า การจัดสรรพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชนได้นั้น เป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำอย่างยิ่ง อย่างน้อยการปรับปรุงพื้นที่ก็จะทำให้พื้นที่นั้นๆ ดูสวยงามสะอาดตามากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับปรุงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทางชุมชนไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง เพราะบางพื้นที่เป็นจุดสาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากทางเขตที่ดูแลพื้นที่ และบางพื้นที่นั้นการพยายามปรับปรุงพื้นที่ด้วยตัวเอง อาจทำให้ได้รับอันตรายได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกๆ ฝ่าย


พื้นที่สุขภาวะ 'ใต้สะพาน' ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน thaihealth


ด้าน ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศวพช. มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เกิดผลทั้งในมิติการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่เชื่อว่าพื้นที่เมืองเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และพื้นที่หลายๆ พื้นที่ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้นั้น กว่า 4 ปีของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะนำร่องในเขตภาษีเจริญ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน คนในพื้นที่และการระดมภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมหนุนเสริม สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในการจัดพื้นที่ที่เป็นข้อจำกัดของเมือง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เพียงแค่คุณปรับพื้นที่ก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะ ในวันนี้พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่จำกัดของ 53 ชุมชนในเขตภาษีเจริญได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้ว กว่า 12,204 ตารางวา


นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับกระบวนทัศน์ของคนในพื้นที่ในการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาของชุมชนเอง ปัจจุบันยังขยายพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะกว่า 10 พื้นที่ ทั้งชุมชน สถานประกอบการ โรงเรียน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นที่พร้อมเป็นแหล่งรียนรู้ ถ่ายทอดบทเรียนดีๆ สู่พื้นที่อื่น


พื้นที่สุขภาวะ 'ใต้สะพาน' ปรับสร้างประโยชน์ให้ชุมชน thaihealth


ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ทาง สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ประเภท รวม 741 แห่ง ทั่วปรเทศ ได้แก่ 1.พื้นที่สุขภาวะย่านเมือง 2.พื้นที่สุขภาวะชุมชน 3.พื้นที่สุขภาวะเส้นทางสัญจร 4.พื้นที่สุขภาวะย่านริมน้ำ 5.พื้นที่สุขภาวะสวนสาธารณะ 6.พื้นที่สุขภาวะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 7.พื้นที่สุขภาวะองค์กร 8.ชุมชนเมืองจักรยานพร้อมขยายพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงเขตภาษีเจริญที่สสส.ให้การสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกเป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขตกทม. ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย ด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์


โดยมีสถาบัน ศวพช. ม.สยาม เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วน ช่วยตอบโจทย์นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น เพราะการปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทำประโยชน์ได้นั้นจะไม่มีความหมายเลย หากคนในชุมชนไม่ช่วยกันดูแลสถานที่สวยงามสะอาดตาน่าใช้ต่อไปพื้นที่เหล่านี้ก็คงจะกลายเป็นพื้นที่รกร้างเช่นเดิม


ดังนั้น เมื่อแต่ละหน่วยงานร่วมมือกันเพื่อพัฒนาพื้นที่แล้ว คนในชุมชนก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และช่วยกันดูแลด้วย เชื่อว่าต่อไปในอนาคตเมื่อโครงการดังกล่าวค่อยๆ ขยายตัว เราจะเห็นแต่ละชุมชนมีพื้นที่ดีๆ ไว้ทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code