พื้นที่สร้างสรรค์คุ้มครองเด็กในภาวะน้ำท่วม
ในภาวะที่ประเทศไทยถูกน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลถึงเด็กนักเรียนจากโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม ว่า หากวันที่โรงเรียนเปิดเทอม เหล่า นักเรียนคงไปโรงเรียนยังไม่ได้ และคงจะต้องมีการเลื่อนการเปิดเรียนต่อไปอีก อย่างไม่มีกำหนดที่แน่นอนได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) Save the children (UK) หรือองค์กรช่วยเหลือเด็ก และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จึงร่วมกันทำโมเดลการคุ้มครองเด็ก ในภาวะน้ำท่วม ผ่านรูปแบบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กด้วยความห่วงใยในการศึกษาและความปลอดภัยของเด็กๆ
งานนี้ น.ส.ประสพสุข โบราณมูล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนามูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ระบุว่า โมเดลการคุ้มครองเด็กในภาวะน้ำท่วมในรูปแบบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กนี้ เป็นการมาร่วมกันจัดกิจกรรม โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้แผนงานสสย. ภายใต้รูปแบบ ที่ว่า “ปลอดภัยสุข สนุก เรียนรู้”
สำหรับขั้นตอนในการทำงาน จะเริ่มจากเจ้าหน้าที่ทีมงานจะเข้าไปประสานงานในพื้นที่ศูนย์พักพิง ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดูแลอยู่ ก็จะทำการประสานงานพม. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของศูนย์พักพิง บางศูนย์อาจจะเป็นอบจ. เทศบาล เมื่อประสานแล้ว ทีมงานจะเสนอโมเดลพื้นที่ปลอดภัย สุข สนุก เรียนรู้เพื่อให้เกิดมุมหรือพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมสำหรับเด็กได้ จากนั้นก็จะขอสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก โดยให้เด็กมาลงทะเบียน ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปทำกิจกรรมที่ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแล้ว โดยมีเด็กลงทะเบียน 500คน ศูนย์พักพิง จ.พระนครศรีอยุธยา มีเด็กลงทะเบียน 30-50คนศูนย์พักพิงวัดไร่ขิง จ.นครปฐม จะเป็นเด็กต่างชาติทั้งหมดคือ 30คน ล่าสุดกำลังประสานไปยังศูนย์พักพิง จ.นครนายกมีเด็กประมาณ 100คน ขณะที่กิจกรรมที่ทำกับเด็กต่างชาติก็จะเหมือนกับการทำกิจกรรมที่ศูนย์พักพิงอื่นๆ เพียงแต่จะแตกต่างกันในบางบริบทเท่านั้น
ส่วนขั้นตอนหลังจากลงทะเบียนแล้ว ทีมงานจะติดป้ายชื่อ พร้อมทำกำไลข้อมือที่เขียนชื่อผู้ปกครองพร้อมเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ เพื่อป้องกันเด็กพลัดหลง จากนั้นทีมงานจะเข้าไปจัดทำระบบโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น ห้องน้ำเด็กอ่อน ห้องอาบน้ำแยกหญิง-ชายความต้องการเฉพาะบุคคลเรื่องสุขภาพ สาธารณสุข จากนั้นจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครในพื้นที่ อาจจะเป็นผู้ปกครองนักศึกษาก็ได้ เข้าร่วมอบรมการคุ้มครองเด็กผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ในสภาวะภัยพิบัติ (น้ำท่วม) โดยจะใช้เวลาอบรมเพียงหนึ่งวัน เพื่อให้อาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแล และสอนน้องๆเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการดูแลตนเองจากคน สัตว์สิ่งของ เช่น อย่ารับสิ่งของจากคนแปลกหน้า ไม่ควรไปอยู่ใกล้น้ำ รวมถึงร่วมทำกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานแก่เด็กโดยในพื้นที่หนึ่งๆ ทีมงานจะอยู่ในพื้นที่ 2-3วัน จากนั้นก็สอบถามความคืบหน้า ผ่านทางโทรศัพท์และเข้าไปเป็นครั้งคราว 1-2อาทิตย์ต่อครั้ง ซึ่งพบว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้นอกจากการผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ปกครองได้แล้วยังพบว่าเด็กๆ ที่ได้ร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ยังจดจำความรู้ที่ได้นำไปใช้ด้วย เช่น พบว่ามีเด็กบางคนที่พลัดหลงจากผู้ปกครอง เด็กจะมองหาพี่ที่เป็นอาสาสมัครที่เขาเคยพูดคุยด้วย แล้วเข้าไปขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
หากเราจะมามองถึงผลที่ได้รับจากกิจกรรม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งส่วนของอาสาสมัคร และส่วนของเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม คงต้องยกตัวอย่างจริงจากผู้เข้าร่วมประสบการณ์มากล่าวให้ทราบดังนี้
นางทัดดาว ธรรมชีพ ชาวจ.พระนครศรีอยุธยาวัย 40ปี อาสาสมัครผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับลูกชายที่ชื่อ “น้องฟลุ๊ก” กล่าวว่า ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง จ.พระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตอนนั้นสภาพจิตใจเกิดความเครียดมาก เนื่องจากห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สิน พอมาเป็นอาสาสมัครดูแลการอาบน้ำให้เด็กๆ ทำให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ขึ้น เช่น พอหลังจากทำกิจกรรมเสร็จน้องฟลุ๊กเขาจะเอารูปที่เขาวาดและระบายสีมาให้ดูบางทีก็มาร้องเพลงและก็เต้นท่าที่ครูสอนให้ป้าดู ป้าก็รู้สึกสนุกมีความสุขไปกับเขาด้วย แม้ในใจจะห่วงบ้านบ้าง แต่ก็ถือว่าทำให้ป้าไม่คิดมาก และป้าต้องขอบคุณมากเลยที่มาทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้เด็ก เขาจะได้ไม่ต้องไปเล่นซุกซนหรือไปเล่นน้ำ เพราะอันตรายต่อตัวเขามาก
นอกจากจะมีกิจกรรมดีๆ ในศูนย์พักพิงแล้ว ทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กยังมีแนวคิดว่าจะทดลองทำพื้นที่สร้างสรรค์ลอยน้ำขึ้น โดยจะมีการลงพื้นที่ และนำกระเป๋าที่เป็นของเล่นเด็ก อาทิ สีน้ำมัน ดินน้ำมัน ตัวต่อ หนังสือนิทาน ไปให้กับผู้ปกครองหรือผู้นำในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงนำคู่มือสำหรับผู้ปกครองและเด็กในการดูแลเด็กในภาวะน้ำท่วมไปให้ผู้ปกครอง กรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ยอมอพยพออกจากบ้านด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่แห่งจินตนาการให้กับเด็ก ที่จะได้โลดแล่นก่อนเปิดเทอมและหลังน้ำลด
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า