พื้นที่ปลอดโฟม ชีวิตปลอดภัย
เรื่องโดย : พัชรี บอนคำ team content www.thaihealth.or.th
แฟ้มภาพ
โฟมบรรจุอาหาร หรือเรียกอีกอย่างว่า “โฟลิสไตรีนโฟม” หรือ “สไตโรโฟม” ผลิตมาจากของเหลือทิ้งในน้ำมัน จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตเลียมประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene) ซึ่งสารสไตรีน ถือเป็น “สารก่อมะเร็ง” จากการประกาศขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555
เป็นที่มาของนโยบายจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อ ลด ละ เลิกการใช้ “โฟม” ขึ้นในขณะที่เขตภาษีเจริญ โดยเป็นพื้นที่เขตนำร่องของ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ในบริบทเขตเมือง” ซึ่งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม (ศวพช.) ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าขับเคลื่อนให้เขตภาษีเจริญให้เป็นพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม โดยใช้สวนสันติภาพ มหาวิทยาลัยสยาม ในการจัดงานมหกรรม ร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม “แลกคืนโฟม แลกคืนสุขภาพ”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า จากการรายงานพื้นที่สุขภาวะในเขตภาษีเจริญ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่4 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และความเข้มแข็งของชุมชน อย่างเช่น เปลี่ยนพื้นที่ใต้สะพานให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ เป็นต้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นว่าศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนได้พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม อาทิเช่น การเปิดหน่วยบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษี และการปรับแก้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งในขณะนั้นคือ คณะทำงานชุดที่ 6 โดยการขับเคลื่อนให้เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่สุขภาวะขยะปลอดภัย จนเป็นที่มาของการจัดมหกรรมร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟมฯ จนเขตภาษีเจริญได้รับการกล่าวขานในเวทีการพัฒาสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากชุมชนและจากสำนักงานอื่นๆ ว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเมือง
“ในการขยายพื้นที่สุขภาวะทาง สสส. คาดหวังให้ทุกพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เราใช้พื้นที่เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้กระบวนการทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดมหกรรมร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟมฯ จะเป็นพลังที่แสดงความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผลักดันให้เขตภาษีเจริญและกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สุขภาวะปลอดขยะในอนาคต” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การผลักดันให้เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่สุขภาวะปลอดขยะ โดยเฉพาะ “โฟม” ถือเป็นขยะที่ประชาชนใช้มากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากการดำเนินชีวิต การดูแลสุขภาพของคนเมืองกรุงต่างจากคนต่างจังหวัด ในการเลือกเขตภาษีเจริญเป็นต้นแบบ เพราะเป็นพื้นที่ที่กำลังถูกเปลี่ยนผ่าน จากกึ่งเมืองกึ่งชนบท กลายเป็นพื้นที่เมืองเต็มตัว ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อม สู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
“หลังจากนี้การวัดผลจะมาจากการติดตาม การเก็บสถิติ เราจะมีพื้นที่เป้าหมายในการคัดแยกขยะที่ชัดเจน และการออกตรวจเยี่ยมร้านค้าของพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เก็บข้อมูลจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จะทำให้ทราบว่ามีจำนวนร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่ทำจากชานอ้อยแทนการใช้โฟมจำนวนเท่าไร ดำเนินไปพร้อมกับลงพื้นที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ก็ทำได้ไม่ยาก” ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าว
สอดคล้องกับ นางขนิษฐา วงศ์วรรณ ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า ทราบดีว่าโฟมเป็นภาชนะที่มีสารก่อมะเร็ง แต่เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าภาชนะที่ทำมาจากชานอ้อย อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่าย จึงทำให้แต่ก่อนเลือกใช้โฟมในบรรจุอาหารในร้าน หลังจากมีโครงการมหกรรม ร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม “แลกคืนโฟม แลกคืนสุขภาพ” และผู้จัดทำได้เข้ามาให้ความรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมมีแหล่งจำหน่ายภาชนะที่ทำมาจากชานอ้อยให้ผู้ค้าในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ทำมาจากชานอ้อยในปัจจุบัน
นอกจากผู้ประกอบการที่ต้องร่วมใจกันเปลี่ยนภาชนะในการใส่อาหารแล้ว ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องให้ความร่วมมือเลิกใช้โฟม เปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนรวมพลังกัน ไม่ใช่แค่เขตภาษีเจริญเท่านั้น แต่ทุกพื้นที่ในประเทศไทยก็จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดโฟมได้อย่างแน่นอน