พื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบในสังคมสูงวัย
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
จัดเวทีวิชาการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบในสังคมสูงวัย ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับระบบและกลไกการดูแลระดับพื้นที่”
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมอาคารสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีวิชาการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบในสังคมสูงวัย ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับระบบและกลไกการดูแลระดับพื้นที่” โดยได้เลือกพื้นที่ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ดำเนินงาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้รับการดูแลครอบคลุมในมิติของสุขภาพกาย จิต สังคม และปัญญา สสส. ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งพบว่า การพัฒนากลไกและเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นระบบที่ใกล้ชิดกับชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน ชุมชนและสังคม เมื่อผนวกกับการจัดการความรู้แต่ละพื้นที่ จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายทุกระดับได้
ซึ่งอำเภอวารินชำราบ เป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนในการทำงานดี มีพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนงาน ซึ่งจะเป็นหนทางไปสู่การค้นพบปัญหาและวิธีแก้ไขในพื้นที่ ท้ายที่สุดจะเป็นนโยบายจากพื้นที่ นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายร่วมในระดับประเทศในอนาคตได้ ในสถานการณ์ครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวข้ามรุ่นที่ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูหลานเล็ก ในระยะยาวสถานที่ทำงานควรมีนโยบายด้านสวัสดิการครอบครัวที่เอื้อให้คนวัยแรงงานสามารถทำงานสร้างเศรษฐกิจและดูแลครอบครัวเพื่อสร้างฐานทางสังคมไปพร้อมกันได้
ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่หน่วยงานและสถานประกอบการทุกรูปแบบ ต้องให้ความสำคัญและควรเข้ามามีส่วนร่วม
นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ กล่าวว่า อำเภอวารินชำราบ ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์ใน และได้รับรางวัลอำเภอดีเด่นระดับประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชนโดยการระดมปัญหา ค้นหาความต้องการของคนในพื้นที่ และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาวอำเภอวารินชำราบ คือ “การพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้เหมาะสมตามวัย ให้มีความสุข สงบร่มเย็น มีสุขภาพกายใจที่ดี ดูแลทั้งเด็กและคนสูงวัย โดยใช้สังคมโอบอุ้มเดินไปด้วยกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
เนื่องด้วยพื้นที่ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ เป็นพื้นที่ชุมชนกึ่งเมืองและมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ส่งผลให้ความเจริญทางเศรษฐกิจตามมา มีการอพยพตั้งถิ่นฐานและการทำธุรกิจของบุคคลนอกพื้นที่ ในขณะเดียวกันคนในพื้นที่มีค่านิยมและความจำเป็นต้องออกไปทำงานในเมืองและพื้นที่ต่างถิ่น หลายครอบครัวเด็กจึงต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เด็กๆ เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาสังคม รวมถึงแหล่งอบายมุขต่างๆ ดังนั้น ต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีในพื้นที่ที่จะดำเนินงานสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับเด็กในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาทางสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ควรหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ
นายทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลเมืองศรีไค กล่าวว่า การรวมพลังและเสริมพลังให้กับแกนนำชุมชน ท้องที่และท้องถิ่น และความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะรากฐานของการพัฒนาสังคมเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัว และได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญในการทำงานพัฒนาครอบครัวในสังคมสูงวัย ดังนี้ 1.ควรมีการสอนทักษะการใช้ชีวิตให้กับเด็กในชุมชนควบคู่ไปกับการเรียนทางวิชาการ 2.ชุมชนควรมีกิจกรรมธนาคารเวลา โดยนำมาปรับใช้กับงานจิตอาสาการใช้เวลาในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 3.การจัดทำฐานข้อมูล ที่บ่งบอกสถานการณ์ครอบครัวปัจจุบันของชุมชน ในวันนี้ตนเองเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีหน่วยวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลงมาสนับสนุนพื้นที่ อีกทั้ง การทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจนร่วมกันในการพัฒนาเด็กและครอบครัว รวมถึงความพยายามที่จะทำให้เกิดครอบครัวต้นแบบ การสร้างนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการขยายผลต่อไป จึงเชื่อได้ว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพรอบครัวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นครอบครัวข้ามรุ่น คือ ปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับหลานเล็ก เนื่องจากคนวัยหนุ่มสาวย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองเพื่อไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น ทางโครงการฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญและจำเป็นในการพัฒนาระบบและกลไกการสนับสนุนการดูแลครอบครัวประเภทนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ การเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวสู่การเป็นครอบครัวคุณภาพใน 3 มิติ จะมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1.ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดี 2. รอบครัวสามารถทำหน้าที่ในการดูแลสมาชิกในครอบครัวตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม 3. รอบครัวพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งพิงของสมาชิกทั้งในภาวะปกติและในภาวะเปราะบาง ดังนั้น กลไกสำคัญที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อน คือ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการครอบครัวระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ โดยโครงการมีความคาดหวังว่า หากนวัตกรรมเชิงกลไกนี้ประสบความสำเร็จจะถอดบทเรียนและขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต