“พืชมงคล” วันแห่งขวัญกำลังใจ
สิริมงคลแก่เกษตรกร เริ่มต้นฤดูเพาะปลูก
ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีนอกจากจะมี “วันฉัตรมงคล” ที่เป็นวันสำคัญของไทยแล้ว ยังมี “วันพืชมงคล” ที่เราชาวไทยต่างรู้กันดีว่าเป็นวันที่สำคัญมากเพราะประเทศไทยมีทำเลและที่ตั้งที่เหมาะสมในการทำการเกษตรเพาะปลูกต่างๆ รวมถึงอาชีพเกษตรกรยังเป็นงานหลักของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะ “การปลูกข้าว” ซึ่งที่ผ่านมาถือได้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
“วันพืชมงคล” ที่จัดขึ้นในทุกๆ ปี จึงเป็นวันที่ทำให้ประชาชนชาวไทยเห็นความสำคัญการเพาะปลูกและการเลือกเมล็ดพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งผลผลิตที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและสร้างเสริมสิริมงคลให้แก่เกษตรกรเพื่อเพาะปลูกในปีนั้นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ในวัน “พืชมงคล” นั้น ทางราชการได้ถือวันนี้เป็นวัน “เกษตรกร” ประจำปีไปในตัวด้วยเช่นกัน
พระราชพิธีที่มีในวันพืชมงคลนั้นประกอบไปด้วย 2 พระราชพิธีที่สำคัญ คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดพิธีนี้ขึ้น เพื่อเป็นการทำขวัญให้แก่เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น รวมถึงมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงาม ส่วนในพระราชพิธีที่2 คือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เป็นพิธีพราหมณ์ จะเป็นพิธีการเริ่มต้นการไถนาและหว่านเมล็ดข้าวของพระแรกนาขวัญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสัญญาณว่าฤดูการเพาะปลูกและทำนา เริ่มขึ้นแล้ว
เมื่อย้อนไปดูส่วนของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในอดีตนั้น ถือได้ว่าเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีทุกครั้ง และเมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงกระทำเหมือนสมัยสุโขทัยแต่จะมอบอาญาสิทธิ์และทรงจำศีลอย่างเงียบๆ เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งกระทำอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในทุกพระราชพิธี ดังนั้น การเริ่มต้น “พระราชพิธีพืชมงคล” จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พร้อมกับคำว่า “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” มารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยพระราชพิธีเต็มรูปแบบนั้นได้กระทำเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2479 จึงได้เว้นว่างไปด้วยสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ไม่เหมาะจะจัดงานใดๆ เป็นเวลาถึง 10 ปี ต่อมาจึงได้มีการรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่อันเป็นมงคลนี้ขึ้นอีก เมื่อปี พ.ศ.2490 แต่จะมีเพียงแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น จนถึงปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้มีการปรับให้เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น แต่ส่วนที่ยังยึดตามธรรมเนียมโบราณนั้นคือผู้ที่จะเป็น “พระยาแรกนา” นั้นจะตกเป็นของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วน “เทพี” ก็จะถูกคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3–4ขึ้นไป ด้านวันประกอบพระราชพิธีนั้นจะต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี อันประกอบไปด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยามที่ตรงตามตำราโหราศาสตร์ และในวันที่ประกอบพระราชพิธีก็จะมีการทำนาย คำพยากรณ์ต่างๆ ตามหลักของโหราศาสตร์ เห็นชัดจากหลังจากพิธีการไถหว่านแล้ว พระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำและเหล้า เพื่อที่จะเสี่ยงทายคำพยากรณ์ว่าปีนี้จะเป็นไปในลักษณะใดตามคำทำนาย
พระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี อาหารที่ใช้เลี้ยงพระโคในมื้อเช้าและกลางวันจะเลี้ยงดูด้วยหญ้าขน และต้นข้าวโพดเทียม ส่วนมื้อเย็นจะเป็นอาหารเสริมประกอบด้วยข้าวโพดบด กากปาล์ม เกลือแร่ต่างๆ โดยพระโคที่ใช้ในพระราชพิธี จะต้องเป็นเพศผู้เท่านั้นและต้องมีลักษณะที่ดีขาดเกินไม่ได้คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม และพระโคที่ใช้ทั้งคู่นั้นจะต้องมีสีที่เหมือนกัน โดยจะคัดเลือกเพียงสองสีเท่านั้นคือ สีน้ำตาลแดง และสีขาวสำลี และที่สำคัญที่สุดคือต้องผ่านขั้นตอนการทำหมัน
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องน่าประทับใจคือ หลังจากเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว จะได้เห็นภาพของเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ แห่กันเข้าเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ถูกหว่านลงในท้องนาจำลองที่ มณฑลท้องสนามหลวง เป็นจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าหากได้เมล็ดข้าวมงคลที่หว่านลงในท้องนาจำลองแล้ว ก็จะเกิดความโชคดีมีสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เมื่อได้เมล็ดข้าวมาแล้วบางคนก็นำไปใส่ในถุงเงินประดับไว้ที่บ้าน หรือบางคนก็นำไปผสมกับข้าวของตนที่เตรียมเอาไว้เพื่อเพาะปลูกในไร่นาของตน เพื่อข้าวที่ออกมาจะได้เป็นต้นข้าวที่ดีมีมงคลและยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการที่จะเริ่มต้นเพาะปลูกข้าวต่อไป
ที่มา: คมสัน ไชยองค์การ Team content www.thaihealth.or.th
Update: 10-05-53