พิสูจน์ความเค็มด้วย “CHEM METER” สู่การตระหนักรู้ ลดภาวะไตเสื่อม

ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าว “ชูนวัตกรรม Salt Meter ตัวช่วยขับเคลื่อนมาตรการลดเค็ม”

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    แม้จะห้ามปรามว่า  อย่า…อย่า “ทานเค็ม” อย่า“ทานหวาน” เพราะอาจเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) แต่อาหารจะอร่อย รสชาติต้องจัดจ้าน เครื่องปรุงไม่ถึงรสคงไม่ใช่ แต่ที่ซ้ำร้ายกว่า คือ พฤติกรรมการทานเค็มโดยไม่รู้ตัว นี่นับว่าเป็นเรื่องน่าห่วง  จึงต้องอาศัย เครื่องตรวจวัดความเค็ม “CHEM METER”  เพื่อให้เห็นผลกันแบบชัดๆไปเลย ว่า ที่รับประทานกันอยู่นี่ “เค็ม” หรือ “ไม่เค็ม” กันแน่

                    โดย น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  ความพยายามลดการบริโภคเค็มของ สสส. ที่ผ่านมา มุ่งให้เกิดตระหนักรู้ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารว่า ผลลัพธ์สุดท้าย ของการรับประทานอาหาร รสชาติหวาน-มัน-เค็ม จนเกินไป เสี่ยงเกิดโรคอะไร รวมถึงสนับสนุนพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ลดบริโภคเค็ม ลดโซเดียมให้น้อยลงด้วยการ หนุนให้เกิดเครื่องปรุงรสทางเลือก เช่น น้ำปลาลดโซเดียม ซีอิ๋วลดโซเดียมเกลือลดโซเดียม รวมถึง รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเกลือ หรือ โซเดียมให้ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน เพื่อสุขภาพที่ดี

                    ล่าสุด สสส. สนับสนุนพัฒนาและศึกษาวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเครื่อง “CHEM METER” นวัตกรรมที่จะช่วยลดการบริโภคเค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทางคลินิก อำนวยความสะดวกต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

                    “เพราะลิ้นในการรับรสของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนบอกแกงถ้วยนี้ไม่เค็ม อีกคนบอกเค็มแล้ว ฉะนั้นต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย และปัจจุบันจะเห็นได้ว่า อัตราการบริโภคโซเดียมของไทยคนอยู่ที่ วันละ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 1.8 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ควรรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า หากมีเครื่อง CHEM METER ก็จะมาช่วยสนับสนุน ให้เกิดเครื่องมือต้นแบบ และนำไปใช้ในงานส่งเสริมป้องกัน ระดับพื้นที่ ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ กองทุนสุขภาพตำบล ไปใช้วัดอาหารของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้” ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าว

                    ขณะที่รัฐบาล สนับสนุนให้อาหาร เป็น 1 ใน  Soft Power และให้ทุกพื้นที่คัดสรร อาหารท้องถิ่น ทั้งคาว-หวาน-อาหารว่าง ชูเอกลักษณ์พื้นถิ่น เรื่องนี้ น.ส.นิรมล กล่าวว่า อาหารสามารถชูทั้งเรื่องวัฒนธรรม-เอกลักษณ์ และสร้างเสริมสุขภาพไปในคราวเดียวกัน โดยอาจใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น และไม่ต้องมีรสเค็มจัด โดยใช้น้ำปลาลดโซเดียม เพราะรสชาติอร่อยเหมือนกัน ที่ผ่านมา สสส. เคยร่วมมือกับ เชฟกระทะเหล็ก รังสรรค์เมนูสุขภาพที่ลดหวาน มัน เค็ม แต่ยังอร่อยอีกด้วย

                    ขณะที่ นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน เป็นโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน ดังนั้น การสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหาร จึงนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของลดการบริโภคโซเดียม และยังทำให้เกิดการเฝ้าระวังข้อมูล ติดตาม และประเมินผล  

                    ข้อมูลปี 2564 พบมีจำนวนผู้โรคไตเรื้อรังทั้งหมด 1,007,251 คน ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไต ทั้งฟอกและล้างไต รวม 170,774 คน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อคนในการบำบัดทดแทนไตคิดเฉลี่ยประมาณ คนละ 240,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่รวมค่ายา ดังนั้นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคไต จึงตั้งเป้า ปี 2568 อัตราการบริโภคโซเดียมของคนไทยต้องลดลง 30 % เหลือบริโภคโซเดียมต่อวันไม่เกิน 2,434.5 มิลลิกรัม   

                    ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค พร้อมกระจายเครื่องตรวจความเค็มหรือ CHEM METER ไป ยัง 13 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกทม. ที่มีสัดส่วนประชากรมากถึง 1 ใน 6 ของประเทศ การนำเครื่อง CHEM METER มาใช้จะช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ง่ายขึ้น และสร้างความตระหนักกับผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงโรคไต หากทราบปริมาณความเค็มในอาหารที่กำลังบริโภค เช่น งดซดน้ำแกงเค็ม เป็นต้น

                    “การเอาชนะ โรค NCDs ต้องมุ่งปรับพฤติกรรมของคนเป็นหลัก คำว่า เค็ม ไม่ใช่แค่เกลือ น้ำปลา แต่ยังอยู่ในเครื่องชูรสต่าง ๆ และเค็มก็ไม่ใช่แค่อาหารคาว แต่ยังรวมไปถึงเบเกอรี่ และอาหารแช่แข็ง อีกด้วย ดังนั้น ลดเค็มต้องเริ่มจากต้นทางของอาหาร ลึกลงไปในวัตถุดิบ โดยร่วมกับนักกำหนดอาหาร ปรับอาหารท้องถิ่นให้เค็มน้อยลง แต่ยังคงรสชาติอร่อยเหมือนเดิม เช่น ปลาสลิดไม่จำเป็นต้องเค็มจัด และสนับสนุนให้ทุกท้องถิ่นมีเมนูชูสุขภาพ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค” นพ.กฤษฎา กล่าว

                    ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า อาหารที่คนไทย นิยมบริโภคและมีปริมาณโซเดียมสูง 5 อันดับ ได้แก่ อาหารประเภท ยำ พล่า น้ำตก, ส้มตำ, แกงไม่มีกะทิแต่ใส่เครื่องแกง ต้มยำ และก๋วยเตี๋ยว ซึ่งการได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงเกินกว่าคำแนะนำ มีผลโดยตรงต่อความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมเร็ว และปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงเฉลี่ยอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิม 50–60 ปี ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการมีเครื่องมือวัดความเค็มจะช่วยให้สถานการณ์การบริโภคลดเค็มกลับมาดียิ่งขึ้น

                    “ปัจจุบันผลตอบรับเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารทางเลือกที่ลดบริโภคโซเดียมให้น้อยลงดีมากเห็นได้จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่มาสูตรลดโซเดียม ทั้งน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอยหอยนางรม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูตรลดโซเดียมก็มีแล้ว แต่หากเพิ่มเครื่องมือวัดความเค็มเข้าไปอีกก็จะยิ่งดีขึ้น” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

                    ส่วนกระแสการผลักดันอาหารท้องถิ่น ให้เป็น Soft Power จะช่วยลดพฤติกรรมการบริโภคเค็มนั้น รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่จะชูความโดดเด่นของอาหารท้องถิ่น เพราะได้ใช้วัตถุดิบในพื้นมาปรุงอาหาร แต่ขณะเดียวกันต้องสอดแทรกเรื่องการปรุงอาหารที่ชูเรื่องสุขภาพดีไปด้วย ไม่บริโภคหวานจัด เค็มจัด โดยใช้เครื่อง CHEM METER มาวัดระดับความเค็ม สร้างรสชาติอาหารความอร่อยกลมกล่อมที่ไม่หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวเผ็ดกำลังดี และยังดีต่อสุขภาพ

                    ด้าน รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เครื่อง CHEM METER ผ่านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบกว่า 5 รุ่นแล้ว ใช้หลักการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าในโซเดียมคลอไรด์มาวัด และแปรผลปริมาณความเค็มออกมา ผ่านสัญลักษณ์รูปใบคนหน้ายิ้ม 3 หน้า เช่น ใบหน้ายิ้ม บริโภคได้ ใบหน้าเฉย บริโภคได้ แต่ควรรับประทานพอประมาณ และใบหน้าเศร้า ควรบริโภคน้อย แต่ถ้ามีโรคประจำตัวเลี่ยงบริโภค ให้ความรู้สึกตรงไปตรงมา ไม่ต้องแปลผลตัวเลข ว่า สมควรบริโภคมากน้อยแค่นี้ อีกทั้ง การวัดทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่จุ่มเครื่องมือวัดลงไปในอาหารที่เป็นส่วนน้ำ กดปุ่มค้าง เครื่องก็จะแสดงสัญลักษณ์ใบหน้าปรากฎ หลังใช้เสร็จล้างน้ำตรงปลายไม้ที่จุ่ม แล้วเช็ดให้แห้ง ปัจจุบันเครื่อง CHEM METER มีการพัฒนาให้ทนทาน มีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยมีราคาประมาณเครื่องละ 1,000-1,600 บาท แต่หากผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ก็จะยิ่งทำให้ราคาของเครื่องถูกลง

                    “แต่ละประเทศ แม้มีเครื่องวัดความเค็มที่มีค่ามาตรฐานไม่เหมือนกัน เพราะอาหารและวัฒนธรรมการรับประทานไม่เหมือนกันทุกประเทศ เช่น เครื่องวัดความเค็มของญี่ปุ่น ออกแบบมาเพื่อวัดมิโซะ แต่ในอาหารไทย มีทั้ง แกงน้ำใส, แกงกะทิ ,น้ำพริกมีกะปิ  เครื่องวัดความเค็มของแต่ละประเทศ จึงไม่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์วัดกันได้เหมือนกัน” รศ.ดร.ยศชนัน กล่าว

                    ความเสี่ยงของการเกิดโรค ส่วนใหญ่ มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร นวัตกรรมเครื่องวัดความเค็ม CHEM METER  ที่ออกแบบโดยคนไทย เหมาะสำหรับวัฒนธรรมไทย ใช้ไม่ยากนี้ หวังเป็นเครื่องมือช่วยสกัดความเค็ม ก่อนที่เราจะตัดสินคว้าสิ่งใดเข้าปาก แต่ถ้าจะให้ชัวร์ ปรับวิถีชีวิตไม่ทานเค็มให้เป็นนิสัย แค่เท่านี้ ไตดี แน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code