พิษ6ขวบ! ถู”ไฮเตอร์” “วธ.”จับตา ภัยโฆษณา

วธ.เปิดเว็บไซค์ประเมินรายการทีวี หวัง ปชช.ช่วยจัดเรตติ้ง

 

พิษ6ขวบ! ถู”ไฮเตอร์” “วธ.”จับตา ภัยโฆษณา            เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม ที่แฉเรื่องภัยโฆษณาผิวขาวแล้วสวย ยืนยันน้องสาวตัวเองดูโฆษณาแล้วเกิดอยากขาว ถึงขนาด  นำน้ำยาไฮเตอร์มาทาตัว จนปวดแสบปวดร้อน โชคดีที่ล้างออกได้ทันก่อนจะบาดเจ็บ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและควบคุมเนื้อหาไม่ให้เกินจริง ผอ.สถาบันรามจิตติ เผยตัวเลขการสำรวจเด็กดูทีวีถึงวันละ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งมากเกินไป ขณะที่โฆษกสธ.เตือนเด็กอายุ 9-12 ปี ยังแยกแยะไม่ได้ แต่จะจดจำจากการพบเห็น หากปล่อยให้ดูทีวีรายการไม่เหมาะสม อาจจะเป็นนิสัยติดตัวได้ ด้านวธ.เปิดเว็บไซต์จับตารายการทีวีไม่เหมาะสม ให้ผู้ปกครองเข้ามาจัดเรตติ้ง และเสนอความคิดเห็นได้ทันที แล้วจะส่งข้อมูลให้สถานีปรับปรุงหรือแก้ไขให้เหมาะสม

 

            จากกรณีแนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประธานนักเรียนฯ จัดแถลงเรื่อง “ดูดู๊ดูสื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้” เผยภัยจากโฆษณาและละครทางทีวี โดยการสำรวจความคิดเห็นของเด็กไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าการจัดเรตติ้งและขึ้นคำเตือนหน้าจอนั้นไม่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่เด็กจะดูทีวีเพียงลำพัง จึงเสนอให้รายการที่ไม่เหมาะกับเด็กไปออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม ขณะเดียวกันยังจี้ให้ดูแลการโฆษณาและละครทางทีวี เพราะมีอิทธิพลกับเด็กอย่างมาก ทั้งฉากตบตี ด่าทอ หรือร้องกรี๊ด ทำให้เกิดการเลียนแบบ พร้อมกันนี้ยังมีนักเรียนชั้นม.6 สมาชิกเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม เผยถึงภัยโฆษณาที่ตอกย้ำเรื่องผิวขาวจะดูดีและสวยขึ้น จนทำให้น้องสาววัย 6 ขวบ ใช้น้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์มาทาตัว ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

 

             ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 12 พ.ค. น.ส.อาวีวรรณ  สร้อยคำ อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 ร.ร.เทพศิรินทร์ร่มเกล้า เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องญาติวัย 6 ขวบ ใช้น้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์ทาตัวเพราะต้องการขาว เนื่องจากเห็นในโฆษณาครีมบำรุงผิวว่า น้องสาวอายุ 6 ขวบ เรียนอยู่อนุบาล 3 ดูภาพยนตร์โฆษณาโลชั่นบำรุง ซึ่งตอนนั้นเสนอเนื้อหาที่ว่าสามารถบำรุงผิวให้สวยและขาวขึ้น จึงคิดขึ้นว่าต้องลองหาสิ่งของที่มีสรรพคุณดังกล่าวมาลองใช้ เนื่องจากเป็นคนที่มีผิวคล้ำ

 

            น.ส.อาวีวรรณ กล่าวต่อว่า ต่อมาหลังจากเลิกเรียนน้องสาวชักชวนเพื่อนๆ มาเล่นที่บ้าน จากนั้นเข้าไปในห้องน้ำและเห็นขวดน้ำยาซักผ้าขาวยี่ห้อไฮเตอร์ วางอยู่ จึงนึกถึงโฆษณาของสินค้าดังกล่าวที่เสนอข้อความชวนเชื่อว่าหากใช้แล้วจะขาวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วทำให้ผ้าขาวขึ้นแต่เด็กดูและฟังโฆษณาแล้วเข้าใจว่าทำให้อย่างอื่นขาวได้ด้วย จึงนำน้ำยาซักผ้าขาวมาเทใส่ฟองน้ำและมาลูบไล้บริเวณต้นแขน สักพักก็มีอาการแสบขึ้นมา จึงรีบนำน้ำสะอาดมาล้างออก เคราะห์ดีที่สามารถล้างออกทัน ไม่เช่นนั้นน้ำยาซักผ้าขาวน่าจะกัดผิวจนเป็นแผลได้รับบาดเจ็บ

 

            น.ส.อาวีวรรณกล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและควบ คุมเนื้อหาของโฆษณา ซึ่งบางครั้งเสนอเนื้อหาเกินความจริง ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อและเข้าใจผิด อีกทั้งการที่เสนอโฆษณาที่มีเนื้อหาซ้ำๆ บ่อยครั้ง จะยิ่งเป็นการปลูกฝังและสร้างความคิดที่ผิดให้กับเยาวชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

            นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ปริมาณการดูโทรทัศน์ของเด็กยังอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่เห็นว่ามีความรุนแรงมากนั้น เกิดจากเด็กถูกครอบครัวทิ้งให้อยู่กับโทร ทัศน์เพียงลำพัง ไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำ ประกอบกับความรุนแรงของเนื้อหารายการทีวีมากขึ้นเป็นลำดับ

 

            นายอมรวิชช์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มและผลกระทบจากความรุนแรงที่เด็กจะได้รับจากรายการโทรทัศน์ต่างๆ จะมากขึ้นอย่างแน่นอน ควรมีมาตรการดูแลในเรื่องที่สำคัญ ลำดับแรกคือครอบครัวที่ต้องเข้าใจถึงปัญหาที่จะกระทบต่อเด็ก โดยไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังกับทีวี และควรให้คำแนะนำ ลำดับต่อมาคือผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยทำรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก และโรงเรียนควรมีการให้ความรู้ในเรื่อง สื่อศึกษา แก่เด็กอีกทาง เพื่อสอนให้เด็กรู้ทันสื่อ เพราะเด็กเป็นวัยที่มีการเลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่เห็น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเมื่อดูโฆษณาต่างๆ ได้ง่าย

 

            “ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือ ประเทศไทยไม่มีมาตรฐานคุมการผลิตสื่อ ถึงแม้ว่าจะมีการวางมาตรฐานเรื่องเรตติ้ง แต่ยังไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง ควรมีการทำงานต่อ เพื่อควบคุมในเรื่องของช่วงเวลานอกเหนือจากประเภทของรายการ เพราะขณะนี้ผู้ผลิตก็ไม่ได้สนใจ จะจัดประเภทก็จัดไป แต่เนื้อหาก็ยังรุนแรงเหมือนเดิม และการที่พ่อแม่ไม่อยู่หน้าทีวีกับลูก เด็กจึงได้รับผลกระทบเช่นเดิม จึงต้องรณรงค์ให้ผู้ผลิตมีจิตสำนึกมากกว่านี้” นายอมรวิชช์ กล่าว

 

            นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณ สุข กล่าวว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ชี้ชัดตรงกันว่าสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์มีผลกระทบต่อเด็กมาก โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้รับสื่อที่มีความรุนแรงในช่วงอายุน้อย จะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม และลักษณะนิสัยในระยะยาว แม้เด็กจะได้รับสื่อนั้นเพียงไม่กี่วินาทีก็ส่งผลกระทบได้ โดยเฉพาะเด็กอายุ 9-12 ปี จะเป็นวัยที่ยังแยกแยะไม่ได้ แต่จะจดจำพฤติกรรมที่ได้พบ เห็น และเลียนแบบ จนเป็นนิสัยเปลี่ยนแปลงได้ยาก

 

            “พัฒนาการของเด็กนั้น เริ่มต้นเด็กจะยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่รับรู้ได้ แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการเลียนแบบอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังไม่ถือเป็นนิสัย แต่ประสบการณ์ที่ได้รับบ่อยๆ จะซึมซับเข้าไป เมื่อเด็กนำไปทำตามในที่สุดก็จะเกิดเป็นนิสัย นอกจากเด็กแล้วในวัยผู้ใหญ่ก็พบว่า การได้รับสื่อที่มีความรุนแรงก็มีผลกระทบต่อผู้ใหญ่ได้เช่นกันแต่เป็นระยะสั้น โดยลักษณะที่ต่างกันคือผู้ใหญ่นั้นมีการพัฒนาบุคลิกภาพเต็มที่แล้ว จึงไม่เปลี่ยนแปลงในด้านนิสัยหรือพฤติกรรม แต่จะนำไปสู่การเลียนแบบวิธีแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น เช่น เกิดปัญหาแล้วตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นต้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

            น.พ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ชั่วโมงในการรับสื่อของเด็กนั้น 3-4 ชั่วโมงถือว่ามากเกินไป ครอบครัวควรให้ความสำคัญในการแบ่งช่วงเวลาให้เด็กทำกิจกรรม  อื่นๆ เช่น การเล่นกีฬา การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะการปล่อยให้เด็กอยู่หน้าทีวีนั้นเป็นการทำลายพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก และทำลายสัมพันธภาพในครอบครัว อย่าคิดว่าโทรทัศน์จะช่วยเลี้ยงลูกแทนได้เพราะเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก

 

             ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเปิดตัวเว็บไซต์ www.me.or.th ว่า วธ.เปิดตัวเว็บไซต์ประเมินเนื้อหารายโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ รวมทั้งทดลองเข้าไปชมรายการโทรทัศน์ของแต่ละช่อง เพื่อประเมินเนื้อหารายการโทรทัศน์ พบว่าสามารถดูรายการโทรทัศน์ ขณะที่กำลังออกอากาศและย้อนหลังได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากนี้ไปประชาชนทั่วประเทศ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นว่า รายการทีวีช่องไหน มีการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ (เรตติ้ง) ที่ไม่เหมาะสมผ่านเว็บไซต์นี้ได้โดยตรง โดยวธ.จะรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนสะท้อนเข้ามา ส่งไปยังกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีทุกช่องได้ศึกษาเรตติ้งเชิงคุณภาพในการปรับปรุงรายการต่างๆ ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมด้วย

 

            นายวีระ กล่าวต่อว่า วธ.จะใช้เว็บไซต์ www.me.or.th ประเมินเนื้อหาสื่ออื่นๆ ด้วย อาทิ สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นว่าสื่อต่างๆ มีความเหมาะสมกับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้วธ.จะรณรงค์ให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หรือสื่ออื่นๆ มีจิตสำนึกที่ดีในการผลิตรายการ      ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ชมทุกเพศทุกวัยได้บริโภค ตลอดจนจะรณรงค์ไปตามสถาบันการศึกษาให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมประเมินคุณภาพของสื่อ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสื่อที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย โดย วธ.ได้ใช้งบประมาณในการจัดทำเว็บ ไซต์ครั้งนี้ จำนวน 3,000,000 บาท

 

            นายจอห์น รัตนเวโรจน์ ผู้จัดทำเว็บไซต์ www.me.or.th กล่าวว่า จากการทดลองเปิดเว็บไซต์ช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเข้ามาประเมินผลรายการถึง 17,290 คน/วัน โดยประชาชนไทยทั่วโลกสามารถดูรายการโทรทัศน์แบบสดๆ และประเมินผลได้ทันที ซึ่งผู้จัดทำเว็บไซต์จะรวบรวมสถิติเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ มอบให้แก่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการผลิต อีกทั้งใช้สิ่งที่ผู้ชมชื่นชอบอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update 13-05-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code