พิษร้าย ‘ไซบูทรามีน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ขณะนี้เป็นที่รับรู้กันว่า "ไซบูทรามีน" เป็นสารลดความ อ้วนอันตราย เพราะส่งผลกระทบต่อหัวใจและความดันโลหิต แต่ ข้อเท็จจริงแล้ว ความเป็น "พิษ" ของไซบูทรามีน ยังมีมากกว่านั้น
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง พิษของไซบูทรามีน ในงานแถลงข่าว "ไซบูทรามีน อันตราย สถานะ ทางกฎหมาย และการลักลอบนำเข้า" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการ เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ว่า ผู้ที่เจ็บป่วยจากผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก มีข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี 3 ปี คือ ปี 2558- 2560 ที่มีการรายงานหรือสอบถามเข้ามา พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 244 ราย ร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ร้อยละ 20 เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงอายุ 13-48 ปี ถึงร้อยละ 86 และ อายุน้อยกว่า 12 ปี ร้อยละ 14 โดยค่ากลางของอายุผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงวัย 20 ปี โดยอายุน้อยสุดที่พบคือ ขวบกว่าๆ ซึ่งตรงนี้เกิดจากพ่อแม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมอันตราย แต่ไม่ทราบ แล้วไปวางไว้ตามจุดต่างๆ แล้วเด็กไม่รู้ว่าเป็นอะไรเกิดไปรับประทานเข้าจึงเกิดปัญหา ซึ่งจากจำนวนผู้ป่วย 244 ราย ได้มีการวิเคราะห์ถึงชนิดของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ทั้งจากการที่ให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นและโทร.ปรึกษา โดยการเก็บเลือดและปัสสาวะมาให้เรา และตรวจหาว่าเป็นอะไร หรือหากได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาก็จะเอามาตรวจหาสารอะไร ซึ่งจากการตรวจพบว่า เป็นสาร ไซบูทรามีนถึง 14% แอลคาร์นิทีน 4.5% ไม่ได้ตรวจพิสูจน์ 55.7% และอื่นๆ 25.8%"
ถ้าดูสูตรโครงสร้างสารไซบูทรามีนทางเคมีจะเป็นอนุพันธุ์ของเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ซึ่งคุณสมบัติคือกระตุ้นประสาท มีเรี่ยวแรง คึกคัก ทำให้เบื่ออาหาร และทำให้เกิดอาการหลอนประสาท โดยไซบูทรามีนนั้นมีการดัดแปลงพัฒนาบางส่วนทำให้มีฤทธิ์ออกไปในทางเบื่ออาหารมากกว่า ลดฤทธิ์การกระตุ้นประสาทและความหลอนลง แต่หากรับประทานแบบเกินขนาด ก็สามารถเกิดฤทธิ์กระตุ้นประสาทและหลอนประสาทแบบยาบ้าได้เช่นกัน
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือ จากจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขที่มีการรายงานและสอบถามเข้ามาเท่านั้น แต่ยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ โรงพยาบาลอาจพบแล้ว แต่ไม่ได้สอบถาม เพราะดูอาจเป็นเคสหัวใจหรือจิตเวชทั่วไป ซึ่งถ้าไม่มีการสืบถามว่ามีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่ ก็อาจทำให้ไม่ทราบเคส
ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ฤทธิ์ของสารไซบูทรามีน มักจะออกที่ระบบประสาทส่วนกลางคือเพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนิน นอร์อีพิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งทั้งสามตัวนี้จะทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดี ช่วยต้านการซึมเศร้า และเมื่อออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส ก็จะทำให้ไม่อยากอาหาร ลดการกินลงไป และไซบูทรามีนยังกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย จึงนำมาใช้ ในการลดน้ำหนักและคนชอบใช้ แต่ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก นั้นดีหรือไม่ ต้องชี้แจงว่า ยาลดน้ำหนักทุกตัวแนะนำว่าเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคอ้วนเท่านั้น แสดงว่าสุดท้ายการรักษาหลักต้องใช้เรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะมีข้อจำกัดในการใช้ยาอีกมาก ซึ่ง มีงานวิจัยถึงประสิทธิภาพของไซบูทรามีนในคนไข้โรคอ้วน 600 กว่าคน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม พบว่า จากการใช้ไซบูทรามีนต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน สามารถช่วยลดน้ำหนักลงมาได้จริงจาก 100 กิโลกรัม เหลือ 90 กิโลกรัม จากนั้นนำผู้ป่วยที่ผ่านช่วง 6 เดือนแล้วมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกหยุดไซบูทรามีนและกินยาหลอก พบว่า น้ำหนักกลับขึ้นมาเหมือนเดิม กับกลุ่มที่กินต่อจนครบ 2 ปี น้ำหนักก็ไม่ลดต่อคือได้แค่คงที่ ดังนั้น ประสิทธิภาพของไซบูทรามีนคือ ช่วยน้ำหนัก ลดลงช่วงแรก จากนั้นจะช่วยให้คงสภาพ แต่เมื่อหยุดก็กลับมาอ้วนเหมือนเดิม ประสิทธิภาพจึงไม่ได้ดีมากสมคำเล่าลือ ดังนั้น ข้อห้ามใช้ของไซบูทรามีนจึงมาก ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร การทำงานของตับหรือไตบกพร่องรุนแรง และเด็กวัยรุ่น
ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สารไซบูทรามีนถูกแบนออกไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่คือผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้คงไม่สามารถเขียนได้ว่ามีไซบูทรามีนอยู่ เพราะผิดกฎหมายไม่สามารถขายได้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นจะมีตั้งแต่เขียนชัดๆ ว่า ยาลดความอ้วน กาแฟลดความอ้วน แคปซูลผงบุก หรือกลุ่มแมงลัก แต่เมื่อไปตรวจสอบจริงๆ แล้วกลับเจอไซบูทรามีน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ทางออนไลน์ทั่วไป
ไซบูทรามีน จึงเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ยิ่งเป็นการลักลอบผสมและกินแบบไม่รู้ตัว ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นหลายเท่าทีเดียว