ยอดพุ่งปีละ 1.5 พันราย
นายการุญ ตระกูลเผด็จไกร นายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ไร้กล่องเสียงที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2,400 คน นอกจากนี้ยังพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นสมาชิกเฉลี่ยปีละ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากสูบบุหรี่ทั้งสิ้น และมีผู้ที่เสียชีวิต 10-20 คนต่อปี ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงในแต่ละปี ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการที่ผู้ป่วยได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นผู้หญิงและมีสามีสูบบุหรี่ โดยในแต่ละปีมีผู้ไร้กล่องเสียงที่สามารถฝึกการออกเสียงจนสามารถพูด และสามารถสื่อสารได้เพียงแค่ปีละ 20 คน
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยถึงสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ว่า จากสถิติทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงรายใหม่ 161,400 ราย เป็นเพศชาย 142,200 ราย เป็นหญิง 19,200 ราย และยังพบว่ามีผู้ที่เสียชีวิต 89,100 รายต่อปีทั่วโลก ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น และประมาณ 67% ของมะเร็งกล่องเสียงในเพศชาย และ 28% ของมะเร็งกล่องเสียงในเพศหญิงเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ การได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งพบว่าเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกล่องเสียง 2.2 ถึง 4.3 เท่าตามระยะเวลาและปริมาณควันบุหรี่มือสองที่ได้รับอย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งกล่องเสียงที่ดีที่สุดคือการไม่สูบบุหรี่และการหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง ทั้งนี้ ประมาณว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงเพิ่มขึ้นปีละ 1,500 ราย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
update 13-11-51