พิษณุโลกนำร่องระบบฐานข้อมูลดูแลเด็กด้อยโอกาส

สสค.จับมือม.นเรศวร พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กด้อยโอกาส 3 กลุ่ม “ยากจน พิการ อยู่ในถิ่นทุรกันดาร” นำร่อง 10 จังหวัด หลังพบเด็กจำนวนมากไม่เข้าถึงสิทธิการดูแล รองผู้ว่าฯพิษณุโลกชี้สถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในจังหวัด สูงกว่า 64,000 ราย ส่วนใหญ่มาจากความยากจน ประกาศเป็นจังหวัดนำร่องจัดทำฐานข้อมูลดูแลเด็กด้อยโอกาส

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการดูแลเด็กด้อยโอกาสนอกระบบและเด็กกลุ่มเสี่ยงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาท้องถิ่นและจังหวัด โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ จาก 10 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จ.น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุรินทร์ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ พิษณุโลก กำแพงเพชร ภูเก็ต และยะลา เข้าร่วมการฝึกอบรม เพื่อนำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศในการดูแลเด็กด้อยโอกาสไปใช้ในจังหวัดนำร่อง โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธาน

นายบุญธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะในปัจจุบันมีตัวเลขสะสมจากจำนวนเด็กด้อยโอกาสสูงถึง 5 ล้านคน ประกอบด้วยเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วกว่า 3 ล้านคน และเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา อีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2551 พบว่า มีจำนวนเด็กหายไปจากระบบการศึกษาไทยสูงถึง 3.1 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่า เด็กที่หายไปจากระบบการศึกษาไทยมีจำนวนถึง 1 ใน 5 ของประชากรเด็กเยาวชนไทยทั้งระบบ ซึ่งในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก มีจำนวนเด็กด้อยโอกาสอยู่ที่ 64,267 คน ส่วนใหญ่มาจากปัญหาความยากจนและถูกทอดทิ้ง

นายบุญธรรม กล่าวว่า การดูแลเด็กด้อยโอกาสจึงเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยเกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานจึงจำเป็นต้องมีระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนและจัดสรรทรัพยากรดูแลกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง จ.พิษณุโลกจึงเป็น 1 ใน 10 จังหวัด ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการดูแลเด็กด้อยโอกาส โดยจะเริ่มจัดทำฐานข้อมูลในเด็ก 3 กลุ่ม คือ เด็กพิการ เด็กยากจน และเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ซึ่งคาดว่าระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีนี้ เพื่อให้เกิดระบบการส่งต่อดูแล ช่วยเหลือเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ ครบวงจร ตั้งแต่สถานพยาบาล ศูนย์การศึกษาพิเศษ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง 

ดร.ไกรยส ภัทรวาท นักวิเคราะห์นโยบายด้านการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจากระบบฐานข้อมูลที่ขาดการส่งต่อเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน โดยพบว่าการส่งต่อข้อมูลเด็กจากบันทึกสุขภาพแม่และเด็กหรือสมุดสีชมพูที่ไม่ถูกส่งต่อไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล และไม่ถูกส่งต่อไปยังโรงเรียน ส่งผลให้เด็กที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องด้านการเรียนรู้ไม่ถูกดูแลด้านพัฒนาการที่ต่อเนื่อง ทั้งที่ 90% ของเด็กที่บกพร่องการเรียนรู้สามารถแก้ไขได้หากได้รับการพัฒนาที่ต่อเนื่องตั้งแต่วัย 0-5 ปี 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า สสค.จึงร่วมกับ 10 จังหวัดนำร่องประกอบด้วย จ.พิษณุโลก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุรินทร์ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ กำแพงเพชร ภูเก็ต และยะลา จัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศในการดูแลเด็กด้อยโอกาส โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้น พร้อมกับทดลองใช้ในจ.แม่ฮ่องสอน โดยมีการส่งต่อข้อมูลระหว่างสาธารณสุข ศูนย์การศึกษาพิเศษในกรณีที่พบว่าเป็นเด็กพิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ให้บริการศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน พร้อมกับมีคนกลางในการจัดการดูแลเด็กให้เข้าถึงบริการอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศจะเริ่มใน 3 กลุ่ม คือ ยากจนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ ตามด้วยพิการ และอยู่ในชนบทห่างไกล จากนั้นจะขยายผลต่อไปยังเด็กที่มีปัญหาเปราะบางทางสังคม นั่นคือ แม่วัยรุ่น เด็กที่ถูกต้องคดี เป็นต้น 

ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร หัวหน้าโครงการระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาส กล่าวว่า จากที่ทำเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบการดูแลสุขภาพของคนไทยสำเร็จคือ การมีระบบฐานข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายการมารักษาของคนไข้ในทุกโรงพยาบาล แต่พบว่าระบบฐานข้อมูลในโรงพยาบาลก่อนหน้าจัดเก็บข้อมูลแบบแยกส่วน ตั้งแจต่จุดลงทะเบียนคนไข้แบบกระดาษ ห้องยาที่ต้องแกะลายมือหมอ และการเงิน จึงพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันทั้งโรงพยาบาล ซึ่งจะมี 3 จุดบริการที่ได้ประโยชน์คือ ฝ่ายลงทะเบียน ห้องยา และการเงิน รวมถึงทำให้รู้ค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาลได้ ซึ่งระบบหลักประกันโอกาสทางสังคมจะมีความยากกว่าทางสุขภาพ เพราะมีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งการศึกษา พัฒนาสังคม สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องวางระบบการส่งต่อข้อมูลเด็กให้เชื่อมโยงกัน และหากมีความพร้อมในการจัดการข้อมูลแล้ว มีระบบการคลังสาธารณะที่เพียงพอในการดูแลเด็กด้อยโอกาส รวมถึงเครื่องมือในการดูแลเด็กด้อยโอกาส จะเกิดระบบหลักประกันโอกาสทางสังคมซึ่งเป็นระบบป้องกันไม่ให้เกิดเด็กด้อยโอกาสทางสังคมต่อไป

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code