พิธีเปิดโรงเรียนแก้จน รณรงค์ให้คนอีสานเลิกเหล้าเลิกจน

 

พิธีเปิดโรงเรียนแก้จน เพื่อการรณรงค์ให้คนอีสานเลิกเหล้าเลิกจน สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

  เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน ทำพิธีเปิด “โรงเรียนแก้จน” เพื่อการรณรงค์เปลี่ยนความคิด  เปลี่ยนวิถีชีวิต  เลิกเหล้าเลิกจน  สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์เปลี่ยนอีสานไม่กินเหล้า ภายใน 20 ปี โดยพระธรรมดิลก  เจ้าคณะภาค 9 (ธ)  เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ  เป็นประธานพิธีฯ เนื่องในเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษามหากุศล  ฉลอง 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเฉลิมฉลอง 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแนวทางปฏิบัติแก่พสกนิกรชาวไทย 

พระธรรมดิลก  เจ้าคณะภาค 9 กล่าวว่า ผู้ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนนั้น  จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร  คือต้องดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งความเจริญ  ละเว้นจากทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ในทางพุทธศาสนานั้น หนทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมก็คือ จะต้องละจากอบายมุข 4  ประการคือ เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร โดยเฉพาะการดื่มสุราเป็นการผิดศีลข้อ 5  ที่จะนำไปสู่ความเสื่อม นำไปสู่ความหายนะต่างๆตามมา จนกระทั่งกลายเป็นหนี้เป็นสิน  นำความยากจนและปัญหาต่างๆของชีวิตอย่างไม่สิ้นสุด  ถือเป็นวงจรอุบาทว์ที่เป็นต้นเหตุแห่งความยากจน   ดังนั้นการละจากการดื่มสุราและอบายมุขทั้ง 4  ก็จะเป็นแนวทางทำให้รอดพ้นจากความยากจนได้ ขออนุโมทนาให้สาธุชนคนดีทุกๆคน ได้ละจากการดื่มสุรา เลิกเหล้าตลอดชีวิต พิชิตความยากจน  ดำรงตนแบบพอเพียง สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ให้ได้ทุกผู้ทุกคนในช่วงเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษามหากุศลในปีนี้ 

ส่วน นายนิรุจน์  อุทธา ผอ.ศูนย์แก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน  กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า“โรงเรียนแก้จน” จะเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้   ศึกษาดูงาน และฝึกปฏิบัติเพื่อการปรับเปลี่ยนค่านิยมคนอีสาน ไปสู่พฤติกรรมไม่ดื่มเหล้าตลอดชีวิต  พิชิตความยากจน สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  ตามหลักปรัชญาที่ว่า “เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” มีเป้าหมายให้คนอีสานเลิกเหล้าตลอดชีวิต พิชิตความยากจน ดำรงตนแบบพอเพียง  มีครอบครัวอบอุ่น อยู่ในชุมชนเข้มแข็ง  อย่างน้อยร้อยละ 25 ของครอบครัวทั้งหมดในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้    ดังนั้น “โรงเรียนแก้จน” จึงถือเป็นนวัตกรรมการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมสังคมอีสานครั้งสำคัญ  อีกนวัตกรรมหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนสังคมของประเทศไทย

 

 

 

ที่มา : ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคอีสานตอนบน โดย  ศุภฤกษ์  ต่อพันธุ์ 
Shares:
QR Code :
QR Code