พิทักษ์สิทธิ ให้คนไทยไร้ควัน


“คนไทยยังสูบบุหรี่ถึง 12.5 ล้านคน  เพศชาย 45.6% และเพศหญิง 3.1% และยังมีผู้ไม่สูบที่ได้รับผลกระทบในสังคมอีกจำนวนมาก”


31 พฤษภาคม ถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ประเทศไทยเดินหน้าการทำงานภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกอย่างเต็มที่ โดยมีประเด็นในการรณรงค์ที่สำคัญคือ “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่”


ผลจากการสำรวจยังพบว่า จากสถานการณ์การสูบบุหรี่นอกจากปริมาณผู้สูบ 12.5 ล้านคนแล้ว  การละเมิดต่อสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหา ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เป็นที่ห้ามสูบเช่น 54% ของผู้ไม่สูบต้องได้รับควันบุหรี่บริเวณตลาด 23.6% ได้รับควันในอาคารที่ทำงาน  และยังพบว่า 34.2% ได้รับควันบุหรี่ที่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นการรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ในพื้นที่ที่กฎหมายกำหนดถือเป็นภารกิจที่ต้องร่วมมือและเร่งดำเนินการ


นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย อธิบายว่า การทำงานรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ของประเทศไทยถือว่าได้ผลและเป็นที่ยอมรับซึ่งทำให้แนวโน้มจำนวนนักสูบของไทยลดลง แต่พบว่า ระหว่าง พ.ศ.2549 – 2552 มีสัญญาณนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนจากการที่อุตสาหกรรมบุหรี่ใช้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ทดแทนกลุ่มที่สูญเสียไป โดยเฉพาะมุ่งทำให้มีผู้สูบเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งมือทำงานให้ทันท่วงทีต่อกลยุทธ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อธิบายเพิ่มเติมว่า การโฆษณาด้วยวิธีการส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กิจกรรมที่อ้างว่าทำเพื่อสังคมเช่น การสนับสนุนเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับโรงเรียน สมาคมและมูลนิธิต่างๆ องค์กรท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานราชการ การบริจาคสิ่งของให้แก่หน่วยงานต่างๆ เป็นต้น คือ ความพยายามล้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทำลายสุขภาพ ทั้งยังมีการสร้างสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อหวังผลให้การควบคุมไม่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น


จะเห็นได้ว่า การต่อต้านนโยบายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบเช่น ภาพคำเตือน การเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การขึ้นภาษีมักจะมีการคัดค้านจากกลุ่มธุรกิจและเบี่ยงเบนประเด็นให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนและท้าทายอนุสัญญาควบคุมยาสูบทั้งสิ้น การทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายเกิดประสิทธิผล จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยังคงต้องร่วมมือกัน


ความก้าวหน้าของการโฆษณา จูงใจ ในปัจจุบันโลกสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารจำนวนมาก ที่ทั้งรวดเร็วขอบเขตกว้างขวาง และเข้าถึงโดยตรง ซึ่งธุรกิจยาสูบไม่พลาดที่จะฉวยโอกาสจากช่องทางเหล่านี้ในการทำการตลาดเช่นกัน


ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช นักวิชาการ นักวิจัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นถึงผลการศึกษาข้อมูลการสำรวจตลาดบุหรี่ออนไลน์ ได้พบประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งในอนาคตกฎหมายจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้สามารถควบคุมได้ทันเนื่องจากพบว่า มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ด้วยการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา


“แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามโชว์บุหรี่ตามร้านค้าแต่การเปิดเว็บไซต์ขายบุหรี่ผ่านอินเทอร์เน็ต เปรียบเหมือนตู้โชว์ที่ผู้ขายสามารถโชว์สินค้าได้อย่างเต็มที่ และใช้กลเม็ดจูงใจด้วยซองที่สวยงาม สีสันสะดุดตา ไม่มีคำเตือนบนซอง ราคาถูก และซื้อขายได้ง่าย เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ และโอนเงินผ่าน ATM นอกจากเว็บไซต์ ยังพบการโฆษณาผ่าน Social Marketing ในรูปแบบเกมบน Facebook วิดีโอคลิปผ่าน YouTube และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างวัยรุ่นได้อย่างดี”ผศ.ดร.มณฑา อธิบายการพิทักษ์สิทธิตามกฎหมายจึงถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งเครื่องเต็มสปีด เพื่อปกป้องคุ้มครองเยาวชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่โดยเร็ว


สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ