พาวัยซนตะลุยแปลงนา ลั้นลาแปลงผัก
เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กนานาชาติจากโรงเรียนบางกอกพัฒนา กว่า 50 ครอบครัวร่วมกิจกรรม “เรียน-รู้-วิถีอินทรีย์สุขใจ” ที่สวนเกษตรอินทรีย์ สามพรานริเวอร์ไซด์
เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการบริโภคของคนในทศวรรษหน้าที่มีแนวโน้มต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ และมูลนิธิสังคมสุขใจ ได้เปิดห้องเรียนธรรมชาติในพื้นที่สวนเกษตรอินทรีย์ของสามพรานริเวอร์ไซด์ ให้กับครอบครัววัยซนจากโรงเรียนบางกอกพัฒนา กรุงเทพมหานคร กว่า 50 ครอบครัว เข้าร่วมกิจกรรม “เรียน-รู้-วิถีอินทรีย์สุขใจ” ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่องที่จัดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเด็กๆ และผู้ปกครอง ได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ เรียนรู้ที่มาของแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์ และซึมซับวิถีเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับวิถีไทย วิถีอินทรีย์ สู่เพื่อนและสังคมในวงกว้าง
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า กิจกรรม “เรียน-รู้-วิถีอินทรีย์สุขใจ” เป็นกิจกรรมนำร่องที่จัดขึ้นเป็นพิเศษให้กับกลุ่มครอบครัวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบไทยๆ ได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ยั่งยืนผ่านการลงมือทำในพื้นที่จริง ภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ได้ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงใดๆ ในกระบวนการเพาะปลูกเลย ก้อนดินทุกก้อน แปลงนา แปลงผัก ต้นไม้ทุกต้นในสวนเกษตรอินทรีย์ของสวนสามพราน สามารถทำหน้าที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี และปลอดภัย
“กิจกรรมที่จัดขึ้นเราเน้นให้ความรู้เรื่องที่มาของวัตถุดิบอินทรีย์ที่นำมาประกอบอาหาร เรื่องวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การทำนา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงควาย การปลูกผักและเก็บผัก การทำขนมจากวัตถุดิบที่เก็บจากในสวนเกษตรอินทรีย์ อาทิ ขนมครกจากข้าวกล้อง กล้วยแขก ไอศครีมโบราณจากน้ำสมุนไพร การหุงข้าวไรซ์เบอรี่แบบเช็ดน้ำบนเตาถ่าน เป็นต้น ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะสอดแทรกความรู้แบบบูรณาการให้เขาได้สนุกกับการได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้จดจำและอยากนำไปบอกต่อ”
ด้าน นายอนิรุทธิ์ ขาวสนิท หรือ ลุงเขียดของเด็กๆ ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลสวนเกษตรอินทรีย์ของสวนสามพราน บอกว่า ทุกเดือนจะมีผู้คนหลั่งไหลแวะเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมอย่างไม่ขาดสาย เพราะเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต สามารถสัมผัสและลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งตนจะเน้นให้ทุกคนได้ลงมือ หัดทำ หัดปลูก ได้อย่างเต็มที่
“เมื่อเขาได้มาเห็นวิถีชีวิตชาวนา และได้ลงมือทำนาด้วยตัวเอง เข้าไปเก็บผักสดๆ เราก็เชื่อว่าเขาจะประทับใจและค่อยๆ ซึมซับ เรื่องความสำคัญของการเลือกกินอาหารปลอดภัย เพราะเมื่อเขารู้ที่มาของวัตถุดิบที่มาเป็นอาหารของพวกเขาในแต่ละวัน เขาก็จะรู้ว่า การใช้เคมีนั้นเป็นอันตราย พวกเขาจะต้องเลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาเป็นอาหาร เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี”
ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต