พัฒนา ‘ส้วม’ ให้ถูกสุขอนามัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมส้วมสุขอนามัยตามมาตรฐาน คือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีส่งมอบและเปิดป้ายส้วมสุขอนามัยในโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะที่ 2 ปี 2559 ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ที่โรงเรียนดวนใหญ่วิทยา อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ
นพ.วชิระ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการก่อสร้างห้องส้วมใหม่ หรือปรับปรุงส้วมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ส้วมที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดศรีสะเกษ ที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 5 แห่ง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดว่า นักเรียน 50 คนจะต้องมีส้วม 1 ห้อง โดยกรมอนามัย กำหนดให้มีส้วม 2 แบบให้เลือกใช้ ทั้งแบบนั่งยองกับชักโครก ให้เหมาะสมกับการใช้งาน
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า หากไม่มีการจัดการส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมทั้งวิธีการใช้ส้วมที่ผิดวิธี ส้วมจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ที่ผ่านมา กรมอนามัยดำเนินการพัฒนาสุขภาพเด็ก สามเณร และจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนมีส้วมที่มีมาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Healthy) เพียงพอ (Accessility) และปลอดภัย (Safety) มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ คือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถแบบชักโครก ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากระดาษทิชชูลงโถส้วม ราดน้ำ หรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดส้วมในโรงเรียน ลดเสี่ยงของการเกิดโรค
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งด้านสุขภาพอนามัยเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดารควบคู่ไปกับด้านการศึกษาให้เรียนหนังสือได้โดยไม่หิวหรือเจ็บป่วย จากการที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร พบว่าการจัดหาน้ำดื่มและบริบทสภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ ทรงให้ความสำคัญและมีพระราชกระแสรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดูแลและบริหารจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนอย่างจริงจัง ให้มีส้วมเพียงพอต่อการใช้งาน
การมีส้วมใช้ถือเป็นความจำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค องค์การสหประชาชาติประกาศ ในจำนวนประชากร 7,000 ล้านคน มี 6,000 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือ แต่มี 2,500 ล้านคน ไม่มีห้องส้วมใช้ มี 1,100 ล้านคนขับถ่าย ในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข และทั่วโลกมีเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 760,000 คน เสียชีวิตจากการท้องเสียท้องร่วงในแต่ละปีถ้ามีน้ำดื่มที่สะอาดและการอนามัยพื้นฐานที่ดีการเสียชีวิตของเด็ก เหล่านี้ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น จากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประ ชาชาติ ผ่านมติว่ากำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิดที่มีห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน โรงเรียนสถานที่เป้าหมายที่สำคัญที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายและมีความยากต่อการพัฒนา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล พบปัญหาสำคัญ คือ ความขาดแคลนส้วมในโรงเรียนและสภาพส้วมชำรุดไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่สะอาดมีคราบสกปรก
กรมอนามัย จึงจัดทำโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558