พัฒนาโภชนาการของเด็กไทย
แม้ประเทศไทยจะเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำในเรื่องอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องเป็นกังวลจนต่างชาติต้องอิจฉา แต่เมื่อกลับไปมองตัวเราโดยเฉพาะคุณภาพของอาหารของเด็กไทย กลับสวนทางทรัพยากรที่มีอยู่
แม้รัฐบาลจะพึ่งขยับงบประมาณค่าอาหารกลางวันจาก 13 บาทเป็น 20 บาทในปีที่แล้ว แต่จากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังพบว่ามีโรงเรียนเกินครึ่งไม่สามารถจัดการคุณภาพของอาหารเป็นไปตามมาตรฐานด้านโภชนาการและความปลอดภัยที่ดีพอ และหากปล่อยไว้และไม่มีการเข้าไปช่วยสนับสนุน นอกจากจะใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าหรือสูญเปล่าไปแล้ว ผลกระทบและความเสียหายที่ตามมาคือภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กจะเลวร้ายลง และเป็นเหตุให้เด็กไทยจะผอม เตี้ย อ้วน ไอคิวต่ำเพิ่มสูงขึ้น และยังเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารอันเกิดจากอาหารปนเปื้อน สารเคมี เชื้อโรค และพยาธิจะรุนแรงขึ้นจากความไม่สะอาดในการปรุง ซึ่งพ่อครัวแม่ครัวยังขาดความเข้าใจ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมส่งเสริมการเกษตร และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดพิธี "ประกาศเจตนารมณ์ รวมพลังเพื่อเด็กไทยแก้มใส" จึงต้องออกมาตอกย้ำถึงเรื่องโภชนาการของเด็กไทยเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง พร้อมเพิ่มแนวทางให้โรงเรียนสามารถจัดหาอาหารที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
โดยมีผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษาเข้าร่วมกว่า 700 โรง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานโครงการเด็กไทยแก้มใส (Healthy Kids Healthy
Food) ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ กล่าวว่า ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
สสส.พร้อมกับ 9 หน่วยงาน จึงร่วมกันดำเนินโครงการเด็กไทยแก้มใส (Healthy Kids Healthy Food) ดำเนินโครงการเจริญรอยตามพระยุคลบาท เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยมีภาวะโภชนาการและสุขภาพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศให้ความสนใจ พร้อมสมัครเข้าร่วมดำเนินงาน 726 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 611 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 67 แห่ง กทม. 10 แห่ง และเอกชน 38 แห่ง
โดยมีแนวทางดำเนินงาน ประกอบด้วย แนวทางแรก การเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดบริการอาหารของโรงเรียน การติดตามภาวะโภชนาการ การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ การจัดการบริการสุขภาพ และแนวทางสุดท้ายคือ การจัดการเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องเกษตรโภชนาการและสุขภาพอนามัย
ประธานโครงการเด็กไทยแก้มใสกล่าวว่า จากการดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทำให้ภาวะทุพโภชนาการในพื้นที่ห่างไกลชายแดนลดลงอย่างมาก คาดว่าไม่เกินร้อยละ 10 โดยมี
ภาวะอ้วนร้อยละ 2-3 ต่างจากสถานการณ์ในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. ที่พบว่าภาวะอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ โดยมีสัดส่วนเด็กอ้วนมากกว่าร้อยละ 10 ยิ่งในโรงเรียนสังกัดเอกชนจะพบสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงมาก พบเด็กอ้วนในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ถือเป็นความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
"หากทุกโรงเรียน ชุมชน และครอบครัว ตระหนักถึงปัญหาและช่วยกัน ทั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปีแรกของการดำเนินโครงการเด็กไทยแก้มใสจะเริ่มเห็นแนวโน้มสถานการณ์ที่ดีขึ้น อัตราของเด็กอ้วนจะเริ่มลดลงได้ ซึ่งการเปิด
โครงการเด็กไทยแก้มใสถือเป็นการสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันให้เกิดความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงคุณภาพเด็กไทย" ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ระบุ
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะดูแลโรงเรียนทั่วประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการเด็กไทยแก้มใสเป็นลำดับแรก และได้เตรียมพัฒนาแนวทางบูรณาการโครงการนี้ร่วมกับกองทุนอาหารกลางวันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การพัฒนาทักษะในด้านการจัดการอาหารในโรงเรียน โภชนาการและสุขภาพอนามัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตของเด็ก โดยใช้คู่มือที่ประมวลองค์ความรู้จากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริ ในโครงการเด็กไทยแก้มใสนี้ กรมอนามัยร่วมพัฒนาคู่มือฝึกอบรม เครื่องมือติดตามผลสำหรับครูและผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งจัดให้นักวิชาการประจำศูนย์อนามัยเขต 12 เขตทั่วประเทศ เป็นพี่เลี้ยง
ขณะที่นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ได้มีมติอนุมัติเงินในการจัดโครงการอาหารกลางวันเพิ่มเติมให้กับนักเรียนประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการจำนวน 20 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นเงินที่ให้เพิ่มเติมจากเงินรายหัวที่ได้รับ โดยให้จัดสรรเงินดอกผลกองทุนฯ ให้โรงเรียนดำเนินการนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารมีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการเกินร้อยละ 10 และโรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่เห็นควรให้อนุมัติเงินดอกผลเพื่อดำเนินการตามโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 4,545 โรง เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 297 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 4,523 แห่ง โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 12 แห่ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 9 แห่ง และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 1 แห่ง
หากทุกฝ่ายผนึกกำลังและทำงานเชิงบูรณาการ โดยที่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใสสามารถนำแนวทางไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าอนาคตของชาติที่กำลังเติบโตขึ้นมาแทนที่พวกเราจะมีสุขภาวะดีขึ้นแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์