พัฒนาโดยสารสาธารณะ เพื่อมวลชนชีวิตดี
ประชากรในประเทศไทยในอีก 8 ปีข้างหน้ากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รถโดยสารประจำทาง ซึ่งเป็นการขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมที่สุด จะต้องมีความพร้อม และพัฒนาให้เกิดความทันสมัยเพื่อประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวกโดยเท่าเทียมกัน
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) และสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก 5) กลุ่ม Gen-V Media เครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ ทุกคัน และภาคี องค์กรต่างๆ ร่วมกัน จัด งานเสวนาเรื่อง "วิกฤตรถโดยสารสาธารณะกรุงเทพ ในสังคมผู้สูงอายุ" เพื่อ จุดประกายและเร่งหาแนวทางขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อประชาชน และสังคม ผู้สูงอายุในอนาคต
นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานสภา ผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า การที่ผู้สูงอายุขึ้นรถโดยสาร หรือขึ้นลงรถโดยสาร แม้จะไม่ได้นั่งรถเข็นแต่เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุที่แขนขา หรือเข่าอ่อนแรง เวลาเดินขึ้นรถ หรือลงรถ อาจไม่รวดเร็วหรือมั่นคงเหมือนคนหนุ่มสาว การที่ไม่ได้มีการระมัดระวังหรือหยุดรถที่นิ่งสนิท รวมถึงลักษณะรถที่มีความชัน อาจทำให้ผู้สูงอายุไม่อาจขึ้นรถได้ทัน หรือ เกิดอุบัติเหตุตอนลงจากรถได้ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมีประชากรสูงอายุกว่า 10 ล้านคน หรือเกิน 10% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากดูแลไม่ทั่วถึง จะกลายเป็นภาระสังคม แต่หากมีการจัดการที่ดีจะเป็นพลัง เพราะผู้สูงอายุ 80% ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยเฉพาะบริการสาธารณะที่ทุกคนควรเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
นพ.วิชัยย้ำว่า ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุของไทยมีถึง 14% แล้ว และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี 2573 การขนส่งสาธารณะนั้นเป็นระบบ ขั้นพื้นฐานที่คนทุกระดับเข้าถึง เพื่อที่จะได้เข้าถึงระบบอื่นๆ ต่อได้ ระบบขนส่งมวลชนต้องปรับพัฒนาให้เป็น "อารยสถาปัตย์" คือ สะดวกปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างสถานที่ และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้คนทุกเพศ ทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย เป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่เฉพาะคนสูงอายุ และคนพิการเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งเด็ก สตรี โดยเฉพาะสตรี มีครรภ์ ซึ่งคนเหล่านี้รวมกันแล้วย่อมเป็นคน ส่วนใหญ่ของสังคม
ด้าน ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การขนส่งสาธารณะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคน ฉะนั้นการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดี จึงเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไปในตัว เพราะเมื่อมีทางเท้าดี รถเมล์ ที่สะดวก ประชาชนก็จะออกมาใช้ทางเดิน ริมทางเท้ามากขึ้น ผู้ค้าขายรวมถึงร้านค้าย่านทางเท้าก็จะมีรายได้ที่ดีมากขึ้น เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ดร.อันธิกาอธิบายเพิ่มเติมว่า รถเมล์ที่สะดวกต่อประชาชนทุกระดับควรเป็น "รถเมล์ชานตา" เป็นประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีบันได เมื่อจอดเทียบฟุตบาทจะมีความกว้างและสูงพอดีสำหรับผู้โดยสาร ทุกคนก้าวขาขึ้นรถเมล์ได้โดยง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นบันได นอกจากนี้ยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้พิการทุกประเภท ผู้พิการทางสายตาก็ไม่ต้องกังวลกับการสะดุดขั้นบันได และยังสามารถขึ้นได้เร็วกว่าเดิม ผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าหรือรถวีลแชร์สามารถดึงเหล็กที่คล้ายกับทางเชื่อมลงมาเข็นรถขึ้นรถเมล์ได้อย่างสะดวก และสามารถทำได้เองหรือให้ ผู้อื่นช่วยเพียงเล็กน้อย รถเมล์ชานต่ำเป็นอีกแนวทางที่จะพัฒนาระบบโดยสารสาธารณะให้มีคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบ้านเมือง และทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
ด้วยเหตุนี้ หากทุกภาคส่วนหันมาให้ความร่วมมือ และมีจุดหมายเดียวกันที่จะพัฒนาระบบโดยสารสาธารณะ เพื่อสาธารณะที่แท้จริง สังคมไทยก็จะน่าอยู่มากขึ้น เป็นเมืองแห่งความสุขของผู้อยู่ และผู้มาเยือน อันจะนำมาซึ่ง การพัฒนาในภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต