พัฒนาเรียนออนไลน์ รองรับวิถีชีวิตใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
เนื่องจากโควิด-19 การจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์ เป็นการเตรียมความพร้อมในความจำเป็น ที่จะให้เด็กนักเรียนเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันการระบาดโควิด-19 ได้ผลดีที่สุดทางหนึ่ง
คุณผดุง จิตเจือจุนวุฒิ อาสาธนาคารสมอง จังหวัดสมุทรปราการ เล่าว่าได้อ่านบทความ เรื่อง "วิถีชีวิตในการเรียนการสอน" ของคุณบุญชู พุ่มเจริญ วุฒิอาสา ธนาคารสมองสมุทรปราการ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2563 มีความเห็นด้วยทุกประการ ในการที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการเรียนการสอนเด็กนักเรียนทางออนไลน์
เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ยังจะอยู่กับเราอีกนาน จึงต้องรักษาระยะความห่างกันไว้ (Social Distancing) ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการอยู่กับบ้าน นอกจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว อาจจะมีโรคติดต่อร้ายแรงไวรัสพันธุ์อื่นเข้ามา ระบาดอีก จึงเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์ เป็นการเตรียมความพร้อมในความจำเป็นที่จะให้เด็กนักเรียนเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันการระบาดติดเชื้อไวรัสได้ผลดีที่สุดทางหนึ่ง
แต่ทว่าการเรียนการสอนออนไลน์ในทางการศึกษาเป็นของใหม่ ยังเป็นสิ่งแปลกในยุควิถีชีวิตใหม่นิวนอร์มอลที่ประชาชนยังไม่คุ้นชิน ซึ่งจะสร้างความวิตกกังวลกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่ยังไม่พร้อมเป็นอย่างมาก หากกระทรวงศึกษาธิการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก และสามารถขจัดปัญหาดังกล่าวนี้ให้หมดไปได้ การเรียนการสอนทางออนไลน์ก็จะไม่มีปัญหาแต่ประการใด
โดยปัญหาดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ต้องได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อยสมบูรณ์เสียก่อน เช่น
1. ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ซึ่งโรงเรียนจะเป็นผู้ดูแลอาหารการกินเพื่อให้ได้ครบหมู่ ในอาหารเช้า-กลางวัน ของเด็กนักเรียนทุกวัน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพดี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่ม แต่เมื่อเด็กนักเรียนเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ไม่ได้มาโรงเรียน ส่วนนี้จะขาดผู้ดูแล เด็กนักเรียนที่ยากจน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลามาใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกินเพื่อเสริมสุขภาพและปัญญา สมองแก่เด็กเท่าที่ควร กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องอาหารการกินของนักเรียนที่อยู่ทางบ้านให้เหมือนกับอาหารการกินที่โรงเรียนจัดให้รับประทานมื้อเช้า-กลางวันด้วย
2. หลักสูตรเนื้อหาวิชาเรียน จะต้องมีการตระเตรียม ปรับปรุงหลายอย่างให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาเรียนในหลักสูตรวิชาที่จะจัดการเรียนการสอนจะต้องลดลง เช่นเรื่อง ศาสนา กีฬา กระบี่กระบอง ฯลฯ เพื่อไม่ให้มีรายวิชามากเกินไปจะทำให้นักเรียนเบื่อเรียนทางออนไลน์ได้ วิชาดังกล่าวให้เด็กไปหาความรู้เอาเองจากสโมสร วัด ชุมชน ซึ่งเด็กจะได้ความรู้และประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนการสอนจากออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เด็กกล้าตัดสินใจด้วยตนเองในยามจำเป็น
3. เด็กนักเรียนยากจนทั่วประเทศ World Bank เคยสำรวจก่อนเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 World Bank เป็นห่วงเด็กนักเรียนไทยที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มี โทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวี คือเป็นเด็กยากจน เขาพุ่งเป้าความห่วงใยมาที่เด็กนักเรียนสอง ระดับเป็นหลักคือเด็กประถม (รวมเด็กปฐมวัยในอนุบาล) กับเด็กมัธยมต้น เด็กสองกลุ่มนี้เป็นรากฐานการเรียน และพัฒนาการต่อไปทุกด้าน ซึ่งจะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงในการเรียนการสอนออนไลน์ เหมือนเด็กกลุ่มอื่นๆ
ซึ่งคุณบุญชู ได้เสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการ ทำการสำรวจนักเรียนยากจน ที่ไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอนมีจำนวนเท่าใด เพราะมีบุคลากรทั่วประเทศที่มีความพร้อม แล้วจัดตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดหา อุปกรณ์ดังกล่าวมาแจกจ่ายเด็กยากจนเหล่านี้ให้ครบ ทุกคนได้มีโอกาสเรียนทางออนไลน์ดังเด็กนักเรียน ทั่วไป
4. มีกลเม็ดสอนเด็กนักเรียนให้เกิดสนใจการเรียน กล่าวคือรายวิชาที่เรียน จะต้องมีเนื้อหา โคยครูผู้บรรยายต้องมีวิธีการสอนชวนให้เด็กสนใจติดตาม และให้นักเรียนมีสมาธิเรียนอยู่กับที่ไม่ลุกหนีไปไหน เพราะธรรมชาติของเด็กนักเรียนระดับประถมและชั้นมัธยมต้น มักจะซุกซน เล่นโน่นเล่นนี่ตามประสา ในหลายประเทศใช้ระบบออนไลน์กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายกับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะเด็กโตสามารถคุมตัวเองได้ ไม่เหมือนเด็กเล็กยังต้องพึ่งครู ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการจะจัดทำหลักสูตรเนื้อหาวิชาเรียนอย่างไร ให้เด็กเล็กระดับชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมต้น ให้เขาสนใจ มีสมาธิตั้งใจในการเรียนการสอนทางออนไลน์
5. ปัญหาทางสายตา การเรียนการสอนทางออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย ที่จะนั่งจ้องอยู่หน้าจอนานๆ หรือดูโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขวางมาตรการคุมเข้มในการใช้สายตาของเด็กปฐมวัย เพื่อป้องกันเด็กปฐมวัยมิให้สายตาเกิดพิการตั้งแต่เด็ก
6. วินัยของเด็ก ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กนักเรียนเรียนหนังสือทางออนไลน์ เกรงจะควบคุมตนเองไม่อยู่ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาอยู่เป็นเพื่อนกับลูกที่บ้าน เพราะต้องออกไปประกอบอาชีพ เด็กจะเป็นอิสระไม่มีใครมาดูแลบังคับ พ้นหูพ้นตาครูอาจารย์ ก็จะเปิดเกมเล่นแทนการเรียน หนักข้อไปกว่านั้น เด็กโตที่เริ่มจะมีอารมณ์ทางเพศ จะเปิดดูภาพโป๊ วิดีโอลามกร่วมเพศ
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปพิจารณาว่า จะมีมาตรการในการป้องกันอย่างไร และทำอย่างไรให้เด็กมีวินัยในการเรียนออนไลน์