พัฒนาเด็กไทย สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ในสังคมยุคนี้หากต้องการใช้ชีวิตครอบครัวมีลูกมาเป็นโซ่ทองคล้องใจมาเติมเต็มให้กับบ้าน เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะการเลี้ยงเด็กสักคนให้เติบโตเป็นคนเก่ง คนดี ต้องผ่านขบวนการขั้นตอนอีกมากมายหลากหลายที่พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ หากถามพ่อแม่ว่าอยากให้ลูกฉลาดหรือไม่ เชื่อว่า 100% ต้องตอบว่าอยาก แต่ปัจจัยอะไรที่สามารถส่งเสริมความฉลาด เพิ่มสติปัญญาให้ลูกได้ ในสภาวะที่สถานการณ์เด็กปฐมวัยไทยจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศพัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อ IQ ของเด็กมีโอกาสฉลาดน้อย
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมจัด “สัมมนาการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยกับการคุ้มครองทางสังคม” ณ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า สถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย (0-5 ปี) ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กปฐมวัยประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าถึง 20% ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคมอีก 5% ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว
“สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้ามาจาก 3 สาเหตุคือ 1.ขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า โดยเฉพาะการไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้าและเกลือแร่ที่มีผลต่อสมอง ได้แก่ ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ แต่เด็กที่ขาดสารอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่ยากจน หรือแม่วัยรุ่นที่มีภาวะบกพร่องทางโฟเลตสูง ทำให้ลูกเสี่ยงต่อพิการแต่กำเนิด 2.ปัจจัยการเลี้ยงดู หรือคนเลี้ยงมีปัญหา
โดยเฉพาะในครอบครัวเดี่ยวที่มีถึง 30% ซึ่งโอกาสการเลี้ยงดูลูกมีน้อย เด็กจึงอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และศูนย์เด็กเล็ก ปัญหาคือจุดรับฝากเด็กมีกระบวนการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพหรือไม่ หากไม่มีการเล่านิทานหรือการเล่น พัฒนาการก็จะไม่เกิดขึ้น และ 3.การใช้สื่อโทรทัศน์หรือสมาร์ทโฟน กับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งใน 3 ปีแรกควรหยุดการใช้สื่อเทคโนโลยี แต่ควรใช้วิธีเล่านิทานหรือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งหมด
การดูแลเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพต้องเริ่มจาก 3 ส่วนที่ต้องทำงานร่วมกันคือ 1.เสริมพลัง ครอบครัว ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ เด็กวัยนี้ควรเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกและจำกัดการใช้เทคโนโลยี 2.พัฒนาระบบบริหารจัดการคลินิกสุขภาพเด็ก ที่มีการคัดกรองเด็กและจัดการในกรณีที่พบภาวะบกพร่องอย่างรวดเร็ว (early detection & early intervention) และ 3.ระบบส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของศูนย์ เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้มีคุณภาพ” นพ.สุริยเดว กล่าว
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา สสค. เปิดเผยว่า การดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปี นับเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุด ที่จะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด จากผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (2542) พบว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง 7 เท่า นั่นคือหากลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมถึง 7 บาท โดยพบว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิต จะมีทักษะทางกายภาพ IQ และ EQ ที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต
“สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย พบว่ามีการลงทุนในเด็กปฐมวัยค่อนข้างน้อย เพียง 12% หรือเฉลี่ยต่อหัวคนละ 23,282 บาท/คน/ปี ขณะที่การลงทุนในกลุ่มประถมศึกษาสูงสุดถึง 37,194 บาท/คน/ปี คิดเป็น 54% ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด ตามด้วยมัธยมศึกษา 26,332 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็น 29%
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการลงทุนในเด็กเล็กที่ขาดคุณภาพ ซึ่งพบว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3-5 ปี จะส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัยต่างๆ เช่น โรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปี 2554 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 19,718 แห่ง เด็กปฐมวัย 911,143 คน และครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก 51,193 คน กล่าวคือ ครู/ผู้ดูแลเด็ก 1 คน ต้องรับผิดชอบเด็กปฐมวัย 17 คน ดังนั้นวันเด็กไม่ได้มีแค่วันเดียว แต่ต้องดูแลเด็กตั้งแต่เด็กคลอดออกมา โดยรัฐและท้องถิ่นควรลงทุนให้ถูกจุดและคุ้มค่าที่สุด โดยเริ่มลงทุนตั้งแต่เด็กเล็กเพื่อสร้างรากฐานให้แก่เด็กและเยาวชนไทย” นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าว
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอกว่า ช่องว่างของการดูแลเด็กเล็กที่เกิดปัญหาทั้งในเขตเมืองและชนบทในขณะนี้คือ กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานในเมืองกว่า 50% ขาดสถานรับเลี้ยงเด็ก (Day care) ที่มีคุณภาพ ซึ่งพบว่าใน กทม.มีเพียง 18 แห่งเท่านั้น ขณะที่เด็กในชนบทส่วนใหญ่อยู่ในการเลี้ยงดูของปู่ย่า ส่วนพ่อแม่ทำงานในเมือง ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า
ไม่เพียงเฉพาะสถานศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็กเท่านั้นที่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกรัก พ่อและแม่ต้องเป็นหลักสำคัญที่ช่วยประคอง ส่งเสริมให้ลูกเติบโตขึ้นได้อย่างดีที่สุด.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์