พัฒนาเด็กปฐมวัย สู่พลเมืองคุณภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และสสส. มอบ 26 ข้อเสนอเด็กปฐมวัยระดับภาค ร่วมสร้างพลเมืองคุณภาพของประเทศ
ผศ.ดร.อาภาวรรณ หนูคง และดร.สุคนธ์ วรรธนะเจริญ ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (Capacity of a Community Treasures for early childhood health : COACT) เปิดเผยว่า โครงการนี้ เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนงานปฐมวัยไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะระดับประเทศ พร้อมประกาศนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กปฐมวัยระดับภาค ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก และในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยได้นำข้อเสนอนโยบายสาธารณะมาสังเคราะห์รวมกันเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะระดับภาค ทั้ง 5 ระบบ คือระบบการบริหารจัดการ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดหลักสูตรประสบการณ์เรียนรู้การดูแลสุขภาพและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน จำนวน 26 ข้อ
ผศ.ดร.อาภาวรรณ กล่าวต่อว่า ทุกข้อเสนอเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ข้อเสนอส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ อปท.หน่วยงานหลักสำคัญในการให้ความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันเป็นพลัง ขับเคลื่อนระบบการพัฒนา ศพด.สร้างเด็กปฐมวัยเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ
ทั้งนี้ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะระดับภาคที่เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย อาทิ ระบบการบริหารจัดการ การสนับสนุนสัดส่วน ครูต่อจำนวนเด็กตามเกณฑ์มาตรฐาน การจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยเพื่อการติดตามและส่งต่อข้อมูลตามช่วงชั้นอย่างเป็นระบบ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มีพื้นที่เรียนรู้ ทั้งภายในภายนอกที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งภายในภายนอก ศพด.ให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยและเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้จัดการโครงการ เผยอีกว่าระบบการจัดหลักสูตรประสบการณ์เรียนรู้ ต้องจัดให้มีระบบการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 5 ด้าน รวมถึงการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดทำวัตกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษาตามช่วงอายุ การจัดสรรงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยประจำทุก ศพด. ระบบการดูแลสุขภาพ ร่วมกันดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของเด็ก จัดระบบคัดกรองและส่งต่อการเจ็บป่วยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ และระบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน จัดระบบการติดตามเด็กที่บ้านอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีระบบการสื่อสารที่หลากหลาย การแจ้ง ข่าวกับผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็กอย่าง ทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 32 ข้อ จะส่งมอบให้กับ สสส.เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานระดับนโยบายต่อไป