พัฒนาสื่อการสอนสร้างเสริมคุณภาพเด็กเล็ก
ในยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน บุคลากรด้านการศึกษาเป็นเหมือนผู้นำที่จะนำพาเด็กไทยสู่มาตรฐานการศึกษาแห่งภูมิภาคได้ ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคลากรที่รับผิดชอบช่วงปฐมวัยได้เข้าใจพฤติกรรมเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเด็กช่วงวัยดังกล่าวรักและผูกพันกับครูไม่ต่างจากพ่อแม่หากครูมีคุณภาพจะช่วยฉุดเด็กให้มีคุณภาพด้วย
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือของการพัฒนาการศึกษาคือ สื่อการสอน ครูไทยสามารถใช้ทั้งหนังสือ ของเล่น และกิจกรรมนันทนาการนอกห้องเรียนให้เด็กได้ศึกษาเต็มที่ สสส.จึงได้พัฒนาโครงการขึ้นมาให้ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.)สามารถปรับใช้แบบบูรณาการโดยแลกเปลี่ยนกับครูในพื้นที่อื่น
ทั้งนี้เมื่อกระแสเทคโนโลยีได้รับความนิยมในเด็กและเยาวชนมากขึ้น ประกอบกับภารกิจของแม่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่ต้องทุ่มเทกับการงานประจำวัน ทำให้เวลาสื่อสารกับลูกลดน้อยลง ทำให้หลายครอบครัวต้องเร่งรัดส่งเด็กเข้าสู่ชั้นเตรียมอนุบาลหรือช่วงปฐมวัยเร็วขึ้นตามไปด้วย ศพด.ในประเทศไทยจึงต้องรับภาระดูแลเด็กช่วงอายุ 2-5 ขวบนานประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย สังคมไทยจึงคาดหวังกับการทำหน้าที่ของ ศพด.อย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทั้งด้านภาวะอารมณ์ (อีคิว) และด้านสติปัญญา(ไอคิว)ไปพร้อมๆ กัน
จากสภาพสังคมดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยกลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์ จึงได้สนับสนุนทุนแก่ศพด.ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ครูใน ศพด.จำนวน 224 แห่ง เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กให้มีมาตรฐานและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตก้าวทันสังคมของเด็กๆ ยุคใหม่
โดยเด็กอายุระหว่าง 2-5 ปี เป็นวัยที่สมองเจริญเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ หากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพจะสามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศได้ ทั้งนี้มีข้อมูลการสำรวจประเมินคุณภาพ ศพด.จากองค์การยูนิเซฟ กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พบว่า มีเพียงร้อยละ 67 เท่านั้นที่มีพัฒนาการทั้งอีคิวและไอคิวผ่านเกณฑ์สสส.จึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวโดยเริ่มจากการส่งเสริมคุณภาพของบุคลากรในการสร้างสรรค์สื่อและวิธีการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เต็มที่
"ครั้งหนึ่ง สสส.ได้ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจมีเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 3-10 ปี จำนวน 7,000 คน พบว่าเด็กส่วนมากมีปัญหาโรคพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 41% โดยพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกของเด็กที่ไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ไม่เคลื่อนไหวร่างกายและมักเสี่ยงเป็นโรคอ้วนตามมา ทั้งนี้สาเหตุที่เจอพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นเพราะเด็กปัจจุบันมักถูกเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีทั้งโทรศัพท์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์พกพาและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ซึ่งเด็กในจำนวนดังกล่าวประสบปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่งนานกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจริงๆ แล้วในทางการแพทย์ เด็กที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งแค่ 6 ชั่วโมงต่อวันถือว่าอันตรายแล้วทางเรากังวลกับปัญหาดังกล่าวจึงต้องเร่งอบรมครูใน ศพด. ให้มีการส่งเสริมกิจกรรมแก่เด็กมากขึ้น"
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ