พัฒนาศักยภาพเยาวชน ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

ให้ความรู้กับกฎจราจร  การขับขี่

 พัฒนาศักยภาพเยาวชน ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

          จากสภาพปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนน  เป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

          จากข้อมูลสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิต  ปัจจุบันพบว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ

 

          อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากกลุ่มผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีพฤติกรรมเสี่ยง  ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 1524 ปี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้นๆ   ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสรรหายุทธวิธีในการป้องกันอุบัติเหตุในหลายๆ รูปแบบ  แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเยาวชนลงได้

 

          ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากความคึกคะนองในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง เทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์  ซึ่งเยาวชนจะดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดความคึกคะนองออกมาขับขี่ยานพาหนะอย่างไร้สติและขาดความระมัดระวัง

 

          เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนซึ่งเกิดกับเด็กและเยาวชน  ตำรวจภูธรภาค 4 จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนป้องกันอุบัติเหตุทางถนน  โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเริ่มที่ระดับรากหญ้า  ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน  นักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง  เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎจราจร  การขับขี่อย่างปลอดภัย  และเยาวชนกลุ่มนี้จะสามารถจัดการจราจรในสถานศึกษา  เป็นผู้ช่วยตำรวจจัดการจราจรบนถนน  มีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือผู้อื่นรวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้รถใช้ถนน  อันจะเป็นการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในระดับรากหญ้า  และจะสามารถลดอุบัติเหตุลงได้  ซึ่งการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้  มีขั้นตอนดำเนินการอยู่ 2 กิจกรรม คือ

 

          กิจกรรมที่ 1 การสัมมนาเชิงปฏิบัติการคณะทำงานและครูฝึก

 

          จัดกิจกรรมสัมมนาและฝึกอบรมเยาวชนเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นอาสาจราจร  โดยอันดับแรกจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด  วิธีการทำงานของคณะทำงาน  วิทยากรและครูฝึก  เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการ  กระบวนการฝึกอบรม  รวมถึงได้มีการร่วมมือวางแผนการทำงานร่วมกัน  ดังนั้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของคณะทำงานและครูฝึก  จึงควรดำเนินการเป็นลำดับแรกเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าใจกระบวนการฝึกอบรมเยาวชนเป็นอาสาจราจร  เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน  รวมถึงการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายของเยาวชนในสถานศึกษาและในชุมชน

 

          กิจกรรมที่ 2 การฝึกอบรมเยาวชนเป็นอาสาจราจร

 

          จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน  พบว่าเป็นสาเหตุอันเนื่องมาจากเด็กและเยาวชน  ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎจราจร  การขับขี่อย่างปลอดภัย  ดังนั้นจึงเกิดโครงการนี้ขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่รถจักรยานยนต์  เพื่อสร้างวินัยในการขับขี่รถอย่างปลอดภัย  สามารถจัดการจราจรภายในสถานศึกษาและเป็นผู้ช่วยตำรวจในการจัดการจราจรและสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่เพื่อน พี่ น้อง ในสถานศึกษาและขยายผลไปสู่ญาติและบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนในชุมชนต่อไป

 

          ตำรวจภูธรภาค 4 ทดลองใช้โครงการนี้โดยเลือกตำรวจภูธรจังหวัด 4 แห่งเป็นจังหวัดนำร่องคือ จ.ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร และ ร้อยเอ็ด

 

          สำหรับ จ.ร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการตามโครงการนี้แล้วจำนวน 5 รุ่นๆ ละ 60 คน  โดยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด คือ พล.ต.ต.เติมพงษ์  สิทธิประเสริฐ

 

          ใช้เวลาการฝึกอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มีการคัดเลือกโดยครูผู้ปกครองในสถานศึกษา  คัดเลือกจากนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ในชั้น ม.4ม.5 หรืออายุระหว่าง 1518 ปี ต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ได้และใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ  ประการสำคัญจะต้องมีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนน  ขับขี่รถด้วยความประมาท ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับขี่โลดโผนและขับรถเร็ว

 

          การฝึกอบรมจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพี่เลี้ยง  ครูฝ่ายปกครองเป็นที่ปรึกษาดำเนินการฝึกอบรมทั้งในสถานีตำรวจและค่ายทหารในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 16 ค่ายประเสริฐสงคราม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด  ใช้เวลาในการอบรม 4 วัน 3 คืน

 

          นอกจากฝึกอบรมภาคทฤษฎีให้รู้จักกฎจราจรแล้วยังฝึกอบรมภาคปฏิบัติในโรงพยาบาล ให้รับรู้ถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ อบรมที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและขนส่งจังหวัด

 

          ซึ่งเป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเยาวชนในการช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน  และการจัดระบบการจราจรภายในสถานศึกษาของตนเองและชุมชน  และให้ผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มเยาวชนอื่น โดยการตั้งเป็นชมรมที่จะต้องมีสมาชิกอย่างน้อยชมรมละ 50 คน  เพื่อขยายผลต่อๆ ไป

 

          สำหรับงบประมาณในการฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายในกิจกรรมหลังการฝึกอบรม เช่นอุปกรณ์สำหรับการจัดการจราจรนานาชนิดอีกด้วย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 6,260,000 บาท

 

          ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด โดย พล.ต.ต.เติมพงษ์  สิทธิประเสริฐ  ดำเนินการครบถ้วนไปแล้วทั้ง 5 รุ่น เยาวชนที่ผ่านการอบรมไปแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 300 คน

 

 

 

 

 

 

ที่มา: เว็บไซต์ประชาทรรศน์

 

 

 

update: 27-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code