พัฒนาศักยภาพเยาวชนใต้ ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะ
การพัฒนาเด็กและเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นกำลังสร้างชาติในอนาคต ขณะเดียวกันยังป้องกันปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นแก่พวกเขาในช่วงที่กำลังเติบโต หรือหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่วัยใส ติดยา ติดเกม ไม่เรียนหนังสือ และความรุนแรงในพื้นที่ เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 37 องค์กร ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนและชุมชนท้องถิ่น (ภาคใต้) เพื่อสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนรูปแบบกลไกการรวมตัวและจัดตั้งองค์กรกลุ่มเด็กและเยาวชนในการสร้างเสริมสุขภาวะ
โดยทำงานเชื่อมโยงและสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มครอบครัว องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ และสร้างเสริมสุขภาวะในครอบครัวและชุมชนของเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาและสถานการณ์ด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทย เป็นปัญหาที่มีความสำคัญและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทย ซึ่งส่งผละกระทบต่อทั้งความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศ
เมื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวไทยกำลังเผชิญปัญหาหลากหลาย ทั้งความอ่อนแอของครอบครัว ยาเสพติด การพนัน ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะที่มีแนวโน้มต่อการสูญเสียสุขภาวะ เช่น เหล้า บุหรี่ เพศสัมพันธ์ ความรุนแรง ที่องค์กรทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังการช่วยเหลือให้เขาเหล่านั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ดังนั้น ในฐานะมหาวิทยาลัยภูมิภาคของภาคใต้ ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการบริหารวิชาการต่อสังคม โดยพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นฐานความรู้บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรมและหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ผู้ใฝ่รู้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายรูปแบบ ฉะนั้น เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล จำนวน 37 องค์กร ในการพัฒนาแกนนำเยาวชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวของภาคใต้ โดยให้ผู้ใฝ่รู้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายรูปแบบ
“การดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่ในการพัฒนาวิชาการและทักษะให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความสามารถในการสื่อสาร พัฒนาและเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินโครงการให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรเยาวชนสุขภาวะ โดยใช้หลักการการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชน ทั้งภาครัฐ เอกชนและครอบครัว เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว” รศ.นพ.พุฒิศักดิ์กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การทำงานเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญตั้งแต่ต้นทาง คือตั้งแต่การเกิด หากพบต้นทางที่เป็นแม่วัยรุ่นไม่พร้อมมีลูกก็จะเกิดปัญหาระยะยาวตามมา
ในฐานะองค์กรสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี โดยเชื่อมกับกลไกการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนทีมพี่เลี้ยงลงไปทำงานกับท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน เป็นภูมิคุ้มกันในการลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างปัจจัยเสริมต่อสุขภาพ
โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ในการเป็นแกนนำเยาวชนที่เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งร่างกาย สุขภาพ และกิจกรรม ให้กับน้องๆ ได้เห็นคุณค่าตัวเอง รู้เท่าทันสังคม พึ่งตนเองได้ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ทั้งหมดนี้คือความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ และท้องถิ่น โดยมีความต้องการตรงกันคือพัฒนาสุขภาวะของเด็กและเยาวชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์