พัฒนาระบบบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
กรมการแพทย์เผย 6 บทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้มีมาตรฐาน เผยยาบ้า-ยาไอซ์ระบาดมากสุด ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น 12-17 ปี
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมความรู้วิชาการด้านยาเสพติดและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการ วิทยุ โทรทัศน์ ว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงของประเทศที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งป้องกันการเสพติดซ้ำและช่วยฟื้นฟูให้กลับเป็นคนดี เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า สร้างประโยชน์ และไม่เป็นภาระของสังคม กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตภูมิภาคอีก 6แห่งทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักด้านการพัฒนา กำกับดูแลระบบบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้มีมาตรฐาน ด้วยบทบาทสำคัญ 6 ประการ คือ
1.กำหนดมาตฐานบริการและรูปแบบการรักษา 2.บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดกลุ่มติดรุนแรง และกลุ่มยุ่งยากซับซ้อน 3.สร้างเกณฑ์มาตรฐานและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติดทุกระบบ 4.อบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและยกระดับวิชาชีพ 5.สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการบำบัดรักษายาเสพติดในระดับภูมิภาค 6.สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ด้านยาเสพติดแก่ประชาชน
ดังนั้น จึงได้จัดอบรมความรู้วิชาการด้านยาเสพติดและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการ วิทยุ โทรทัศน์ เพื่อให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโทษพิษภัยของยาเสพติด โรคสมองติดยา มีเจตคติที่ดีและถูกต้องต่อผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนสื่อสารให้ผู้เสพยาเสพติดเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดโดยกำหนดนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ คือ การค้นหา คัดกรองผู้เสพเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่มีมาตรฐาน รวมทั้งการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้กลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ผู้ติดยาเสพติด มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการคาดประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดว่ามีผู้ติดยาเสพติดมากกว่า 1,200,000 คน และจากข้อมูลผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษาประมาณ 150,000-200,000 ราย โดยมากกว่าร้อยละ 60 เป็นผู้เสพผู้ติดรายใหม่ ร้อยละ 80-85 ส่วนใหญ่เป็นผู้เสพติดยาบ้า ส่วนยาไอซ์ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับยาบ้าแต่มีฤทธิ์การเสพติดสูงกว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยพบว่าทั้งยาบ้าและไอซ์เป็นยาเสพติดที่ทำให้มีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง และมีผลทำให้ผู้เสพเกิดอาการทางจิตประสาท มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน อารมณ์รุนแรง ทำร้ายตนเองและผู้อื่น บางรายซึมเศร้าจนถึงขนาดฆ่าตัวตาย และพบปัญหายาเสพติดมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มมัธยมต้น ที่มีอายุอยู่ในช่วง 12-17 ปี
ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดชัดเจนในการแก้ปัญหาผู้เสพ โดยให้ถือเป็นผู้ป่วยและต้องได้รับการบำบัดรักษา แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยยาเสพติดอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ส่วนผู้ป่วยที่มารับการบำบัดรักษาส่วนใหญ่มประวัติการใช้ยามาก่อนถึง 3- 5 ปี ซึ่งทำให้มีการพัฒนาจากผู้เสพเป็นผู้ติดถึงติดรุนแรง ทำให้มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เกิดความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สิน และยากต่อการบำบัดรักษาให้หายขาด ในทางการแพทย์ถือว่ายาและสารเสพติดทุกประเภทไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายมีผลโดยตรงต่อสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางความคิด สติปัญญา ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีการเพิ่มความรุนแรง จากผู้เสพกลายเป็นผู้ติด และส่งผลให้มีโรคแทรกซ้อน บางรายก่อปัญหาอาชญากรรม หรือก่อปัญหาสังคมที่รุนแรง เช่น ทำร้ายผู้อื่น หรือฆ่าตัวตาย เป็นต้น
ดังนั้น โครงการดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโทษพิษภัยของยาเสพติดที่มีต่อสมอง ร่างกาย พฤติกรรม ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงในสังคมปัจจุบัน ข้อมูลสถานพยาบาลที่ให้การบำบัดรักษา รวมทั้งแนวทางหรือวิธีการหรือทางเลือกของผู้เสพและครอบครัวในการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยตัวเองและคืนคนดีสู่สังคม
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต