พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมครบวงจร

ที่มา : คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ ryt9.com


พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมครบวงจร thaihealth


โรคสมองเสื่อมเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการผู้สูงอายุ (geriatric syndrome) ที่พบมากขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ สังคม และครอบครัว


เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตามอายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติ เนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้สร้างความลำบากแก่ญาติและผู้ดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้สาเหตุและกลไกที่แท้จริงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคสมองเสื่อมนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ถึงแม้จะมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายก็ตาม อัตราการเกิดโรคนี้ในผู้สูงอายุจะเป็นแบบทวีคูณ โดยพบผู้ป่วยสมองเสื่อมประมาณร้อยละ 1-2 ในประชากรอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 8 ในประชากรอายุ 70-79 ปี และร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของประชากรที่อายุ 85 ปีขึ้นไป


ข้อมูลจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกลุ่มทำงานด้านสมองเสื่อมในเขตภาคฟื้นเอเชียแปซิฟิก สรุปได้ว่า ในปี 2548 มีผู้ป่วยสมองเสื่อมในภูมิภาคนี้มากถึง 13.7 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 64.6 ล้านคนในอีก 50 ปี ข้างหน้า ในประเทศไทยจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 617,000 คน และคาดว่าในปี พ.ศ.2580 จะมีจำนวน 1,350,000 คน (การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557) โรคสมองเสื่อมนอกจากจะทำให้สูญเสียความคิด ความจำ และความสามารถในการงานการตัดสินใจแล้ว ยังพบว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ ต้องใช้ผู้ดูแลอย่างน้อย 2 คน นำมาสู่ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากญาติในครอบครัวเป็นผู้ดูแลกันเองจะมีค่าดูแล ประมาณ 4,000-6,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ยังไม่ร่วมค่าใช้จ่ายทางอ้อมของผู้ดูแล เช่น ต้องลาออกจากงานมาดูแล ค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้ดูแลและผู้ป่วยเอง


เพื่อเตรียมรองรับปัญหาดังกล่าว นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการ "มหกรรมการเตรียมความพร้อมและสร้างเสริมแนวคิดการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในระดับสังคมของประเทศ" ในปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคมให้สามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนของตนได้ ร่วมกับจัดทำโครงการ "การพัฒนาระบบการดูแลและบริการผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจร" ปีงบประมาณ 2558 – 2564 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการแพทย์ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการสนับสนุนด้านวิชาการจากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันต่าง ๆ ในกรมการแพทย์ และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โครงการนี้เป็นการจัดทำระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร การดำเนินการเริ่มตั้งแต่ระบบการคัดกรอง การวินิจฉัย โปรแกรมการพัฒนาศักยภาพสมองสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำบกพร่องระยะแรก (Minimal Cognitive Impairment: MCI) ด้วยโปรแกรม TEAM-V และการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต่อเนื่องทั้งในสถานบริการและชุมชน ในช่วงแรกเป็นการพัฒนาแนวทางและนำไปทดลองพัฒนาให้เกิดจริงในพื้นที่นำร่องต้นแบบจนสำเร็จใน 4 พื้นที่ คือ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี อำเภอบ้านฝาง จังหวัดของแก่น อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.2562-2564 จะเป็นการขยายผลไปสู่พื้นที่ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (6 กรกฎาคม พ.ศ.2562) ได้ดำเนินการไปแล้วใน 12 พื้นที่ใน 10 เขตสุขภาพ


พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมครบวงจร thaihealth


โครงการนี้จะเป็นโครงการสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อจากชุมชนสู่สถานบริการสำหรับเรื่องอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เพื่อลดความเครียดของผู้ดูแลและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง จึงได้ร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูด (Humanitude) ซึ่งมีการนำไปใช้ในระดับนโยบายในประเทศญี่ปุ่น โดยมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถลดความเครียดของผู้ดูแลและการใช้ยากับผู้ป่วยสมองเสื่อมในการควบคุมพฤติกรรมและอาการที่ไม่พึงประสงค์ลงได้ นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้นำโปรแกรม "Aging Health Data" ซึ่งเป็นระบบการคัดกรอง/ประเมินปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการจัดการข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพให้แก่ โรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และได้นำแอปพลิเคชัน "สูงอายุ 5 G" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทางสถาบันฯ ได้พัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับประชาชนเพื่อตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้นด้วยตนเอง แอปพลิเคชัน สูงอายุ 5 G ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. ความรู้ทั่วไป ได้แก่ หนังสือและบทความ ประชาสัมพันธ์ ภาพความรู้ วีดีโอ และลิงก์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความรู้และข่าวสารต่าง ๆ 2. แบบประเมินพื้นฐาน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป และข้อมูลภาวะสุขภาพ ประชาชน ผู้สูงอายุ สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้ 3. แบบประเมินเฉพาะกลุ่มอาการ ได้แก่ ภาวะเปราะบาง ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ โดยสามารถดาวโหลด แอปพลิเคชันผ่าน App Store และ Play Store บนมือระบบ IOS และ Android ค้นหาคำว่า "สูงอายุ 5 G"

Shares:
QR Code :
QR Code