พัฒนานวัตกรรม ลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์
พระนิสิต ม.มหาจุฬาฯ จับมือกับภาคี สสส. พัฒนานวัตกรรมลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น คณะทำงานในโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง (ด้านพัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์) ภายใต้สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่นและภาคี จัดเวทีแลกเปลี่ยน ติดตามหนุนเสริมผลการดำเนินงานโครงการลดการสูบบุหรี่ของพระนิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้ง ๕ วิทยาเขต
โดยมี พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต, ดร. รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เป็นประธานเปิดเวที พระดร.วิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวแนะนำโครงการฯ และมีพระมหานิกร ฐานจิตฺโต รักษาประธานสภาองค์กรบริหารนิสิต ถวายรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดเวที คือ ๑.เชื่อมสานเครือข่ายการทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์และบุคลากร ๒.จัดเวทีและพื้นที่ในการถวายความรู้ ๓.สร้างพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขและปัญหาการติดบุหรี่เชิงลึก
ในการจัดเวทีครั้งนี้ มีแกนนำพระนิสิตและบุคลากร จาก ม.มหาจุฬาฯ ส่วนกลาง หนองคาย เชียงใหม่ ขอนแก่นและนครศรีธรรมราช ร่วม ๔๓ รูป/คน กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์สร้างปัญญา จบด้วยการภาวนาและแผ่เมตตา นั่งล้อมวงคุยเล่าเรื่องการทำโครงการที่ผ่านมาและความหวังหรือฝันในการมาร่วมทำโครงการฯ นี้
พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต, ดร. รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า “การรณรงค์บางครั้ง ที่เราเห็นว่าไม่ประสบผล เพราะเป็นเรื่องทิฎฐิความเห็นที่เป็นมิจฉาของพระ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มอื่นในสังคมมีสถิติการสูบบุหรี่ลดลงชัดเจน แต่ในกลุ่มพระสงฆ์กลับไม่มีผลชัดเจน ถ้าพระสงฆ์เรานำทางไปผิดๆ เป็นต้นแบบที่ไม่ดี ไม่สามารถนำจิตวิญญาณ บริหารศรัทธาและปัญญาได้ จะทำให้เราเป็นผู้นำไม่ได้
โครงการฯ นี้เหมือนมาจุดประกายให้เรามาปลุกสำนึกให้พระสงฆ์และบุคลากรตระหนักรู้โทษและพิษภัยของอบายมุข โดยเฉพาะพวกเรา พระนิสิต พวกเรานี่แหละจะเป็นพลังสำคัญต้นแบบ ร้อยเปอร์เซ็นต์ของพระที่เข้าร่วมโครงการฯ นี่ต้องปลอดให้ได้ก่อน ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ นอกจากนั้น ควรต้องขยายผลไปรณรงค์ในกลุ่มพระสังฆาธิการที่มาเรียนเสาร์ – อาทิตย์ จัดกิจกรรมให้ท่านได้เห็น รณรงค์ด้วยรูปแบบต่างๆ ถ้าท่านเหล่านี้เลิกได้จะเป็นต้นแบบของสังคม ทำให้ท่านอยู่กับเราได้นาน เป็นที่พึ่งให้พวกเราได้มาก ผมขอให้ขยายผลไปสู่กลุ่มอื่นๆให้มาก ให้เป็นเครือข่ายในการทำเรื่องสุขภาพพระนิสิตของเรา ขอให้ทำต่อเนื่อง ปลุกระดมต่อเนื่อง”
ด้าน ดร.พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “งานที่เราร่วมกันทำนี้ เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้และแนวทางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสูบบุรี่ พัฒนานวัตกรรม แนวทางการลดการการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์ และสุดท้ายคือพัฒนาพระสงฆ์นักสร้างสุขภาวะรุ่นใหม่และสร้างเครือข่ายพระนิสิต สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ทำเฉพาะในกลุ่มเรา แต่มีกลุ่มพระนักพัฒนาที่ทำงานมาก่อนหน้าเราท่านทำอยู่ พวกเราจะไปต่อยอดหรือเรียนรู้งานจากท่านอย่างไร นี่เป็นอีกโจทย์ที่เราจะร่วมกันแก้ ขอให้กำลังใจทุกท่าน เพราะเรามาถูกทางแล้ว เรากำลังกลับมาฟื้นบทบาทพระที่เป็นที่พึ่งชาวบ้านแท้จริงในลดและป้องกันปัญหาสมัยใหม่ที่มีมากขึ้นทุกวัน”
ช่วงบ่าย กลุ่มพระนิสิตได้แบ่งกลุ่มเพื่อเล่านำเสนองานที่ทำไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง มีหลายเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าไปเรียนรู้ด้วยอย่างเช่น ตัวแทน ม.มหาจุฬาฯ นครศรีธรรมราช นำเสนอการไปออกค่ายกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาพร้อมกับแทรกประเด็นการไม่ควรสูบบุหรี่ในระหว่างทำกิจกรรม
ส่วนตัวแทนจาก ม.มหาจุฬาฯ วังน้อย บอกว่า ต้องสื่อสารการรณรงค์งดบุหรี่ในมหาลัยอย่างน้อย ๒ ภาษา เพราะมีพระชาวต่างชาติมาเรียนมาก จึงต้องสื่อสารให้ชัด จุดที่ใช้เป็นศูนย์กลางการทำงานคือลานธรรมลานปัญญา ที่ให้คนที่สูบและไม่สูบได้มาเจอกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน นอกจากนั้นยังใช้เสียงตามสายเป็นการรณรงค์ให้ความรู้เพิ่มเติม มีการเขียนบทความ – การ์ตูนลงวารสารของมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมแจกการ์ดหัวใจไร้ควัน
สำหรับที่ ม.มหาจุฬาฯ สวนดอก เล่าเรื่อง ตั้งแต่การรวมตัวของกลุ่มนิสิตไปขออนุมัติจากผู้บริหาร (ทฤษฎีระเบิดจากข้างล่าง) จัดถือป้ายรณรงค์ในโอกาสต่างๆ ทำเวบเพจ ออกรายการวิทยุ ก่อตั้งชมรม “ไม่สูบบุหรี่ คุณทำได้” ทำสื่อข้อความต่างๆ ที่เป็นการกระตุก ให้ความรู้มากกว่าสั่งการ
สุดท้ายคือ ม.มหาจุฬาฯ นครศรีธรรมราช ได้นำพระที่งดสูบบุหรี่ อันเป็นผลจากการทำกิจกรรมและรณรงค์สื่อสารมานำเสนอถึงเหตุผลหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้เลิกได้
“ตอนนี้ โครงการที่ทำอยู่เป็นการสร้างทาง ๒ ทางให้มาเชื่อมกันคือ ทางที่หนึ่งเป็นทางของพระสายการศึกษา (ปริยัติ) และอีกทางคือทางของพระนักพัฒนา (ปฏิบัติ) เพื่อหลอมรวมให้เกิดเส้นทางเพื่อการตื่นรู้ในการรับใช้ชุมชน สังคมและศาสนา ให้มีการดำเนินชีวิตที่งดงามในกรอบศีลธรรม โดยมีกลุ่มฆราวาสที่สนใจมากกว่าเรื่องทาน มาร่วมสมาทานศีลทำให้ตนให้เกิดประโยชน์รับใช้พระพุทธศาสนา อุ้มชูให้เกิดสุขภาวะที่ดีต่อพระสงฆ์และทุกคนทั้งด้าน กาย จิต สังคมและปัญญา” นายประญัติ เกรัมย์ ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าว
นี่เป็นเพียงการพูดคุยและเล่าเรื่องราวบางส่วนจากงานรณรงค์งดบุหรี่ตลอด ๕ เดือนกว่า นอกจากเนื้อหาที่หลายและการแลกเปลี่ยนที่ชัดแจ้งสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในโอกาสต่อไปแล้ว สิ่งที่มีค่าซึ่งเป็นผลมาจากโครงการฯ คือ พระนิสิตมีปฎิสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายกับ ม.มหาจุฬาฯ ในวิทยาเขตต่างๆ เป็นเหมือนพี่น้องที่ต้องไปเอาแรงไปช่วยเหลือกัน อันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า งานด้านควบคุมปัจจัยเสี่ยงนี้ บทบาทพระสงฆ์สมัยใหม่ยังคงได้เรียนรู้และสืบต่อไม่ขาดสาย….ในตอนนี้
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)