พัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน 3 จ.ชายแดนใต้
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
9 หน่วยงานขานรับนโยบายบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้้า สร้างความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชน สสส. ร่วมหาแนวทางการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อมีส่วนในการหนุนเสริมขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมนำร่อง 6 ชุมชน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมทุกมิติในการพัฒนา ทั้งการพัฒนาคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอุตสาหกรรม และสิ่งสำคัญคือ การเสริมสร้างความมั่นคงและสามัคคีในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการยกระดับความเชื่อมั่นของพื้นที่ให้คนภายนอกได้ รับรู้ถึงความงดงามและความจริงของพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ การท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เพียงแค่ โอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจและมิตรภาพให้กับคนในประเทศได้เกิดความรักและสามัคคีกันมากขึ้น” โดย อพท. ในฐานะ หน่วยงานประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการทุกภาคส่วน ผ่านกระบวนการ Co-Creation “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับ ผลประโยชน์” ซึ่งเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน จึงได้จัดให้มีการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้สอดรับกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) พัฒนาบุคลากรให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่น สู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ รวมถึงการร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์ คือ ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า “การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อน การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังของหน่วยงานที่มี ภารกิจและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นโจทย์ในการพัฒนา เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การยกระดับความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคี ปรองดอง และความสงบสุขของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป”
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีทุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง(ตำบลสุขภาวะ)ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนเชิงประเด็นการลดการบริโภคยาสูบ เกษตรกรรมยั่งยืนและอาหารปลอดภัย โดยมีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสมาชิกจำนวน 87 แห่ง กระจายในทุกจังหวัด จึงเกิดเป็นแนวทางสร้างความร่วมมือกับ อพท. และภาคีหน่วยงานวิชาการและพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาด้านกายภาพ เช่น ความสะอาด ความปลอดภัย 2.การพัฒนาศักยภาพคนในการจัดการและให้บริการด้านการท่องเที่ยว และ 3.การใช้ข้อมูลทุนและศักยภาพของชุมชนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการท่องเที่ยว ได้แก่ อาหารท้องถิ่น อาหารเพื่อสุขภาพ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ในปี 2561 มีชุมชนเป้าหมายร่วมดำเนินงานจำนวน 6 ชุมชนต้นแบบนำร่อง ทั้งนี้โดยอยู่ในพื้นที่เครือข่าย สสส.(ตำบลสุขภาวะ) จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบางปู ต.บางปู อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 2.ชุมชนทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ 3.ชุมชนจุฬาภรณ์12 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส