พัฒนาท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดชายแดนใต้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
มักเกิดความหวาดหวั่นทุกครั้ง เมื่อพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะหลายคนอาจนึกถึงแต่เรื่องความไม่สงบ จนอาจหลงลืมไปว่า แผ่นดินสุดเขตแดนสยามสามจังหวัดล่างสุดนี้ยังอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ และเสน่ห์วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ไม่นับรวมการเคยเป็นพื้นที่เคยมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ไปจนถึงอาหาร ปักษ์ใต้รสชาติโดดเด่นเข้มข้นจนหลายคนยากจะอดใจ
เมื่อสามชายแดนยังคงรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรหลากหลายวันนี้จึงถูกหนุนเสริมให้ก้าวสู่การเป็นอีกพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้าน "การท่องเที่ยวชุมชน" ที่กำลังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ ของชุมชนพี่น้องสามชายแดนใต้ให้อยู่ดีมีสุขสามัคคีปรองดอง ไปจนถึงเกิดความสงบสุขแท้จริงอีกครั้ง
ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหาร การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ต่างมีสัญญาใจร่วมกันว่าจะส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลายเป็นความจริง
"การพัฒนาชุมชนให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสสร้างความเข้าใจยกระดับความเชื่อมั่นให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความงาม และความจริง เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และสร้างความสามัคคี ลดความเลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานของรัฐบาล" พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาอีกหนึ่งในหัวเรือสำคัญของการขับเคลื่อนครั้งนี้
เสริมโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการสนับสนุนให้คนในชุมชนนำต้นทุนในพื้นที่มาจัดการให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคง ถึงสร้างความสามัคคีในชุมชน ซึ่ง สสส. ได้ร่วมเป็นหนึ่งในตัวเชื่อมประสานนำเครือข่ายชุมชนสุขภาวะเข้ามาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัย รวมทั้งการเสริมสร้างสุขภาพ ทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม
"การลงนามครั้งนี้ ได้สร้างความร่วมมือกับอพท. และภาคีหน่วยงานวิชาการและพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดย ดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ 2.กิจกรรมศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3.กิจกรรมพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ 4.กิจกรรมสร้างการรับรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ เพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดการท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ" ดร.สุปรีดา กล่าว
ขณะที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สสส. ได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการตนเองของชุมชนมานาน โดยผลักดันในหลายประเด็น ที่ครอบคลุมสุขภาวะ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าชุมชน ระบบอาหารชุมชน ซึ่งในบางพื้นที่ของเครือข่ายตำบลสุขภาวะบางพื้นที่ก็มีส่งเสริม การสร้างโฮมสเตย์ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสทางให้การทำงาน ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวชุมชนเกิดขึ้นอย่าง เป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนเป้าหมายที่ร่วมดำเนินงาน การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 6 ชุมชนต้นแบบนำร่อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เครือข่าย ตำบลสุขภาวะของ สสส. จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบางปู ต.บางปู อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 2.ชุมชนทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ 3.ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา12 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
นางสาวดวงพร กล่าวอีกว่า จากการได้ลงพื้นที่ด้วยตนเองพบว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้เป็นพื้นที่อันตรายอย่างที่คิด ชุมชนต่างๆ มีเอกลักษณ์ที่น่าสัมผัส เช่น หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่า มีปลานับพันชนิดอยู่ในลำน้ำที่สมบูรณ์ ที่รอให้คนจากภายนอกมาสัมผัสด้วยตาของตนเอง ซึ่งทุนทางสังคม เป็นส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเชื่อว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยก็สามารถทำได้
เสียงขานรับจากคนพื้นที่อย่าง อภิสิทธิ์ บินซา ผู้ประสานงานท่องเที่ยวชุมชน หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส ที่เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของชุมชนเกิดจากการที่ สสส. เข้ามาหนุนการจัดการป่า และอาหารในชุมชน เมื่อมองเห็นศักยภาพ และต้นทุนต่างๆ ที่มีอยู่ จึงร่วมกันจัดตั้ง การท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา เป็นหมู่บ้าน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมาชิกผู้ต่อต้านอังกฤษที่ปกครองมาลายา แต่หลังจากมีการเซ็นสัญญายุติการต่อสู้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 โดยมีรัฐบาลไทยเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย
โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน นอกจากจะได้สัมผัสกับหมู่บ้านในม่านหมอกท่ามกลางหุบเขาสีเขียวและผู้คนที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มาของชุมชน และ เป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรท้องถิ่น โดยแปรรูป ให้เป็นสบู่ เทียนหอม และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถใช้ในชุมชนเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถขายเป็นสินค้าของฝากได้ต่อไปได้อีกด้วย
อีกพื้นที่คือ "ตำบลบางปู" ชุมชนมุสลิมที่อยู่ริม "อ่าวปัตตานี" ซึ่งมีความเก่าแก่นับร้อยปี มีป่าชายเลนยะหริ่งที่มีพื้นที่เกือบหมื่นไร่ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย เต็มไปด้วยป่าโกงกาง หนาทึบ ต้นสูงใหญ่กว่า 10 เมตรขึ้นไป ทำให้กลายเป็นเหมือนอุโมงค์โกงกางที่มีความสวยงาม การท่องเที่ยวชุมชนจึงเกิดขึ้นโดยหวังอยากให้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่สวยงาม อาหารทะเลที่อร่อย และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนมุสลิม
คมกริช เจะเซ็ง เลขาเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนบางปู จ.ปัตตานี กล่าวว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่ในระยะเริ่มแรกเป็นการทำแบบไม่มีองค์ความรู้ทำให้ยังจับทางไม่ถูก แต่ก็ทำให้คนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจ มีการจัดตั้งเพจเพื่อกระจายช่องทางการติดต่อให้กับนักท่องเที่ยว และได้ร่วมเป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะกับ สสส. บูรณาการองค์ความรู้ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ อาหาร และลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน เพราะปัญหาหลักของชุมชนคือ ยาเสพติด ซึ่งผลที่ได้คือปัญหาลดลง เพราะเมื่อคนในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ของตนเองได้พึ่งพาตนเอง มีความสุขในการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงก็ลดลง
"ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาตลอดทั้งปีโดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค.- ก.ย. ที่มีหิ่งห้อยอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นๆ ตัว ทำให้เกิดบรรยากาศล่องเรือชมหิ่งห้อยที่สวยงามมาก อีกทั้งยังมีการสร้างศาลาลอยน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวพักชมธรรมชาติ เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำหรับการถ่ายรูปอีกด้วย ซึ่งหากใครคิดว่า 3 จังหวัดชายแดนเป็นเมืองที่น่ากลัว หากลองมาสัมผัสที่นี่เชื่อว่าจะเปลี่ยนความคิดที่มีอยู่ได้แน่นอน" คมกริชให้ข้อมูลทิ้งท้าย