พัฒนาคู่มือ เปิดตัวเว็บไซต์ เพิ่มกิจกรรมทางกายในโรงเรียน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. ชี้สัญญาณอันตราย เด็กไทยกิจกรรมทางกายต่ำ เนือยนิ่งติดจอสูง กระทบพัฒนาการ ส่อก่อโรค NCDs จับมือ TPAK พัฒนาคู่มือเพิ่มกิจกรรมทางกายในโรงเรียน พร้อมเปิดตัว www.activekidsthailand.com แหล่งรวมข้อมูลวิชาการสำหรับครู เครื่องมือวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นนโยบายสนับสนุนและเพิ่มกิจกรรมทางกายกลุ่มเด็กและเยาวชน เปลี่ยนห้องเรียนเป็นพื้นที่สร้างสุขภาพกาย ใจ เติบโตสมวัย เรียนดี มีความสุข
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย พ.ศ. 2565 (Thailand Report Card 2022) พบเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมได้อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที เพียง 27% ของเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 23.2% และ 26.3% เมื่อปี 2559 และ 2561 ตามลำดับ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ และพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่ใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงรวมต่อวัน ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพียง 15% ของเยาวชนทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสร้างผลเสียต่อพัฒนาการตามช่วงวัย ความแข็งแรงของร่างกาย ความฉลาดทางอารมณ์ และการเกิดโรคไม่ติดต่อ หรือกลุ่มโรค NCDs
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พบว่า เด็กและเยาวชนมีความผูกพันต่อโรงเรียนในสัดส่วน 65% ซึ่งถือเป็นระดับที่ดี ดังนั้นครูและโรงเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญมากต่อการผลักดันและส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายสำหรับคนในกลุ่มนี้ โดยจำเป็นต้องยกระดับนโยบายการมีกิจกรรมทางกาย เน้นไปที่การสร้างความสุข ลดความเครียด สามารถประยุกต์ใช้แนวทางการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายแบบทั้งระบบ (Whole – of – School Programmes) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการมีกิจกรรมทางกายระหว่างวันให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรจัดให้มีการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการมีกิจกรรมทางกายอย่างปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะเพื่อให้นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้นตลอดทั้งวันขณะอยู่ในโรงเรียน โดยสามารถศึกษาข้อมูลและนำไปประยุกต์ใช้ได้จาก www.activekidsthailand.com ซึ่ง สสส. และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายแห่งประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการสนับสนุนเพิ่มกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
“การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและสม่ำเสมออย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที ในกลุ่มเด็กและเยาวชน สร้างประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบหัวใจและปอดที่แข็งแรง สภาพกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด สุขภาพของกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และความจำที่ดี ส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ สามารถคิดเชิงบริหาร การแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ และช่วยในเรื่องการตัดสินใจ นอกจากนั้นยังช่วยลดอาการซึมเศร้า ส่งเสริมให้มีชีวิตเป็นสุขมากขึ้นจากการหลังสารเชโรนิน สารโดพามีน และเอ็นโดรฟินออกมาเป็นสารสื่อประสาททำให้เกิดความสุข” ดร.ไพโรจน์ กล่าว
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า www.activekidsthailand.com ถือเป็นแหล่งรวมข้อมูลทางด้านวิชาการสำหรับครู โรงเรียนและผู้ที่สนใจ ใช้ในการวางแผนนโยบายตั้งแต่เริ่มต้นการจัดทำแผนการสนับสนุนและเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-17 ปี ทั้งในและนอกโรงเรียน ทั้งนี้ใน www.activekidsthailand.com ประกอบด้วยชุดความรู้ที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น 1.คู่มือแนวทางโรงเรียนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ซึ่งผ่านการวิจัยเชิงทดลองกับเด็กไทยนานกว่า 4 ปี จนพบข้อพิสูจน์ว่าสามารถช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกับเด็กวัยประถมศึกษาด้วยแนวคิด 4PC คือ Active Policy การเริ่มต้นกำหนดนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายภายในโรงเรียน, Active Program การสร้างโอกาสให้กับนักเรียนได้มีกิจกรรมที่หลากหลายตามโอกาสและเวลาที่มี, Active Place การพัฒนาพื้นที่ในโรงเรียนให้เล่นได้และปลอดภัย, Active People ส่งเสริมการมีส่วนการทำกิจกรรมระหว่างครูและนักเรียน และ Active Classroom การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในห้องเรียน เพื่อกระตุ้นความพร้อมในการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านกิจกรรมห้องเรียนฉลาดรู้
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวต่อว่า 2.คู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กตามแนวคิด ACP ของสมาคมกีฬาประเทศญี่ปุ่น เหมาะสำหรับคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ฝึกสอนที่ทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้นำกิจกรรมไปปรับใช้โดยรวบรวมการเล่นทั้งแบบไทยและญี่ปุ่นมากถึง 40 กิจกรรม อาทิ เกมเตยกัก ตี่จับ ปาระเบิด ลิงชิงหาง กระต่ายขาเดียว 3.คู่มือสารตั้งต้นสนามฉลาดเล่น สำหรับการประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ผสมผสานระหว่างคู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการส่งเสริมความรู้ตามสาระการเรียนรู้ที่หลากหลายตามวิชาเรียน เหมาะสำหรับเด็กในวัยประถมศึกษา โดยเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้และการทำกิจกรรมทางกายในสนาม หรือพื้นที่ว่างในโรงเรียน และ 4.คู่มือสารตั้งต้นห้องเรียนฉลาดรู้ เหมาะสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายไปพร้อมกับการสอดแทรกความรู้ให้กับนักเรียนในห้องเรียน มีตัวอย่างกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาที่สอนได้เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นห้องเรียนที่เด็กจะสนุกและมีความพร้อมต่อการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่ www.activekidsthailand.com โดยไม่มีค่าใช้จ่าย