พัฒนาความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพให้เกิดในสังคม

พัฒนาความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพให้เกิดในสังคม thaihealth


แฟ้มภาพ


ความไม่เสมอภาคทางด้านสุขภาพ และความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ รวมถึงความแตกต่างทางสุขภาพที่เกิดขึ้นในสังคม นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อสังคมไทยให้ตระหนักถึงปัญหาและควรเร่งการพัฒนาเพื่อหาทางออก


รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับรางวัลทางสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติอันทรงเกียรติได้แก่ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Professor Sir Michael Marmot) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และเป็นศาสตราจารย์ระบาดวิทยาภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร อีกทั้งยังดำรงค์ตำแหน่งนายกสมาคมแพทย์โลก  และได้ทำการศึกษาวิจัยทางด้านระบาดวิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า 35 ปี โดยเน้นเกี่ยวกับบทบาทของความไม่เท่าเทียมกัน อันได้แก่ เชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาวะ ต่างๆ อีกทั้งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และหาวิถีทางเพื่อช่วยคนจน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยการลดช่องว่างทางบริการสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้การยอมรับ


สำหรับผลงานที่โดดเด่นของเซอร์ไมเคิล ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ การเป็นประธานของ The Commission on Social Determinants of Health (DSDH) ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกในเดือนมีนาคม 2005 เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกและองค์กรเครือข่ายในการจัดการปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพโลกอย่างเท่าเทียม โดยคณะกรรมการนี้ได้มุ่งเป้าหมายไปที่การเรียกร้องให้รัฐบาลและสังคม ให้ความสนใจกับปัจจัยทางสังคมสุขภาพในการสร้างเงื่อนไขทางสังคมที่ดีสำหรับสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง


ซึ่งในประเทศไทยของเราเอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับวาระของความไม่เสมอภาคนี้  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งและประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม รวมทั้งเป็นประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของประเทศในการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัย และการจัดการความรู้  ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจไว้ดังนี้


"จะเห็นได้ว่า เซอร์ไมเคิล ได้สร้างคุณประโยชน์นานับประการในการผลักดันและช่วยให้ประชากรทั่วโลกได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงควรเรียนรู้จากผลงานของท่านและสื่อให้สาธารณะได้เข้าใจว่า ในประเทศที่ระบบสุขภาพดีอย่างประเทศไทย social factors มีความสำคัญต่อสุขภาวะของผู้คนไม่น้อยกว่า health factors " พัฒนาความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพให้เกิดในสังคม thaihealthนอกจากนี้นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นายแพทย์นักวิชาการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในวงการวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ ได้ให้ความเห็นต่อเซอร์ไมเคิล ไว้ว่า "ท่านเปรียบเสมือนกับ "แบรนด์" ของงานวิจัยด้านปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมแต่การจะช่วยกันผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมนั้น  สังคมควรตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้


อย่างจริงจัง" เช่นเดียวกับที่นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้สนับสนุนความเห็นนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่า “เซอร์มาร์มอต ทำให้สังคมโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมากขึ้น และทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมที่สำคัญต่างๆ"  นายแพทย์สุวิทย์ยังได้เสนอแนะว่าองค์การอนามัยโลกต้องดำเนินการในการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น          


นอกจากนี้ นายแพทย์วิโรจน์ ได้กล่าวว่า "นักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนโยบาย นอกจากจะอ่านงานวิจัยของ เซอร์มาร์มอต ควรใช้งานของท่านเป็นแรงบันดาลใจด้วย ไม่ควรถือแค่เรียนรู้และทำความเข้าใจงานของท่านเท่านั้น แต่ควรจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาพัฒนาสังคมไทยด้วย เฉกเช่นที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเคยตรัสไว้ว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เรียนรู้ หากอยู่ที่การยังประโยชน์เพื่อปวงชน"


ถึงแม้ เซอร์ไมเคิล จะค้นคว้างานวิจัยจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติหากแต่ผู้นำไปใช้ไม่สามารถต่อยอดพัฒนาอีกทั้งไม่ได้รับความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ ผลงานวิจัยนั้นย่อมมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ ฉะนั้นภาคสังคมและสื่อมวลชน มีบทบาทในการกระตุ้นและช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐได้เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์สามารถนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง


 


 


ที่มา : สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP

Shares:
QR Code :
QR Code