‘พังงาแห่งความสุข สุขที่คุณสัมผัสได้’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
หากใครรู้จักพังงา คงจะเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีความสวยงามของเกาะน้อยใหญ่มากมาย มีครั้งหนึ่งที่พังงาทำเอาคนไทยและคนทั้งโลกรู้สึกสะเทือนใจมาก คือเมื่อครั้งที่เกิดสึนามิ อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในปลายเดือนธันวาคมปี 2547 ที่หนักไปกว่านั้นคือ ความเสียหายของบ้านเรือน สภาพแวดล้อม ชีวิตผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
จากบทเรียนทางธรรมชาติที่โหดร้ายครั้งนั้น ได้สอนให้ผู้คนชาวพังงาได้รู้จักการรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ ชาวพังงารวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนรวมถึงการต่อสู้ในด้านต่างๆ จนช่วง 6 ปีก่อนได้เกิดเป็นกลุ่ม สมาคม "พังงาแห่งความสุข" ขึ้นเพื่อดูแลและพัฒนาความเป็นอยู่คนพังงาร่วมกัน โดยมี นายไมตรี จงไกรจักร ลูกหลานชาวพังงาเป็นนายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข และผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนพังงาแห่งความสุข ผ่านความคิดการ "นำร่วม" ซึ่งก่อตัวขึ้นภายในตัวของเขาหลังจากได้เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพโครงการผู้นำแห่งอนาคต ภายใต้การดำเนินงานของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนทำให้เขาเห็นหนทางในการร่วมสร้างผู้นำในระดับพื้นที่ขึ้นมาเป็นแกนนำหลักที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพภายในบนพื้นฐานการทำงานอย่างมีความสุขอีกจำนวนมาก กลไกนี้เองเป็นหนึ่งในหลายส่วนสำคัญในการหนุนเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มแกนหลักที่ร่วมประสานการทำงานจนเกิดเป็นพังงาแห่งความสุข
ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เล่าผ่านหนังสือ "พังงาแห่งความสุข สุขที่คุณสัมผัสได้" ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันก่อน จัดทำขึ้นภายใต้โครงการผู้นำแห่งอนาคต จากการถอดบทเรียนการทำงานชุมชนร่วมกันของผู้นำชุมชน และประชาสังคมของจังหวัดพังงาที่ทำงานร่วมกันมามากกว่า 20 ปี ซึ่งมาจากแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่มองว่าบทเรียนการทำงานของสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข คือสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับฐานราก ที่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีศักดิ์ศรี หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการตีแผ่แนวคิดและกระบวนการทำงานขับเคลื่อนสังคมของสมาคมฯ
นายไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข กล่าวในวันเปิดตัวหนังสือว่า พังงาแห่งความสุขเป็นเป้าหมายร่วมกันของพลเมืองพังงา ที่สร้างฝันขึ้นมาและเดินทางค้นหาฝันด้วยกันอย่างน้อยที่สุด 6 ปี ที่ผ่านมานี้ ทุกคนตั้งมั่นยึดเป้าหมายเดียวกัน และเป็นผู้ร่วมกำหนดการทำงานไปในทางเดียวกัน ซึ่งก่อนเกิดสึนามิทุกคนในพื้นที่ต่างทำงานของใครของมันไม่ได้สนใจกัน แต่พอหลังจากที่สึนามิเกิดขึ้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มีอยู่ช่วงหนึ่งคนพังงาเริ่มออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ตนเคยใช้วิธีการพาคนในชุมชนต่อสู้กับอำนาจรัฐแบบเดิมๆ ซึ่งหมายถึงเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมกับชุมชนของตน ก็ต้องไปเดินขบวนชุมนุมเรียกร้อง เพราะคิดว่าสิ่งที่ชาวบ้านธรรมดามีคือ "ขา" สำหรับเดินเพื่อชุมนุมเท่านั้น แต่วันหนึ่งก็รู้สึกว่าเพื่อนๆ ของตนไม่อยากจะคบค้าด้วย เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำคือความรุนแรง จนถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ตนได้เข้าไปเรียนหลักสูตรผู้นำแห่งอนาคต
นายไมตรี กล่าวอีกว่า หลักสูตรผู้นำแห่งอนาคตช่วยสอนวิธีคิด และการปฏิบัติที่มากไปกว่าการชุมนุมเรียกร้องแบบที่เคยทำ อาจารย์ที่ปรึกษาในหลักสูตรได้ให้โจทย์ให้ไปหาว่าในจังหวัดของตนเองมีกระบวนการอะไรบ้าง พอหาแล้วก็ได้ชวนผู้นำด้านต่างๆ มารวมกลุ่มกัน พูดคุยหาเป้าหมายที่เราต้องการว่าอยากจะให้จังหวัดของเราเป็นแบบไหน เลยได้เป้าหมาย "พังงาแห่งความสุข" ขึ้นมา ซึ่งประโยคนี้ก็ทำให้มีคนถามมากมายว่าความสุขที่ว่านั้นคืออะไร ความสุขแบบไหน ตนก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร ก็เลยชวนคนจากหลากหลายแห่งเข้ามาร่วมกันขยายเหตุผลว่าความสุขคืออะไร ออกไปทำโครงการนี้นอกพื้นที่ ตามชุมชน ตำบล ไปจนถึงจังหวัด วางแผนพัฒนาร่วมกันว่าอยากให้เป็นไปในทิศทางใดให้เกิดความสุข โดยการลงพื้นที่สร้างความสุขให้แก่ชุมชนหลายรูปแบบ ตนเป็นคนกลางส่วนคนทำงานคือชุมชนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ สิ่งที่ทำก็มีตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการจัดการขยะ เช่น ตำบลแห่งหนึ่งจะไม่มีถังขยะ ไม่มีโรงขยะ แต่คนทั้งตำบลต้องจัดการกันเอง หรือที่เกาะยาวมีการแย่งทรัพยากรเพื่อจะทำเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับคนพื้นที่ จัดทำแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำมาเรื่อยๆ เพื่อทำให้คนรวมกลุ่มกัน ทำงานด้วยกัน ต่อจากนั้นหอการค้าและเอกชนก็มาร่วมสนับสนุน เมื่อมีเพื่อนที่แข็งแกร่งมากขึ้นก็พัฒนากันอย่างเข้มข้น
"จนถึงตอนนี้ไม่ใช่ว่าพังงาแห่งความสุขของเราจะประสบความสำเร็จแล้วต้องทำกันเรื่อยๆ ทุกภาคส่วนจะทำให้เกิดรูปธรรม และขับเคลื่อนจังหวัดอย่างไรให้แต่ละส่วนเกิดการลงตัว" นายไมตรีกล่าว
ด้าน นางปรีดา คงแป้น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า จากที่เห็นจากประสบการณ์การทำงานสอดคล้องกับในหนังสือ เห็นว่าคนพังงาเขารวมกลุ่มกัน โดยมีทั้งคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเล กลุ่มไร้สัญชาติเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นการนำไปสู่ความสุขที่ดีที่ต้องคิดถึงคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่การรวมกลุ่มของแกนนำที่คิดทำการกันอย่างหรูหรา ตนเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องสร้างคน สร้างแกนนำ และต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อน แม้ช่วงแรกพังงาจะเป็นการขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ก็ตาม ตอนนี้ขยายผล ถ้าเขาเข้าใจวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาชุมชนเชื่อมโยงได้กับปัญหาระดับจังหวัดและปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เขาจะสามารถขยายเรื่องนี้ได้ ประเด็นที่สำคัญคิดว่างานพัฒนาทุกอย่างเราต้องให้ความใส่ใจว่าทุกกิจกรรมโครงการนั้น เป็นแค่เงื่อนไขที่จะทำให้คนเติบโตขึ้นท่ามกลางการทำงานเป็นทีม แล้วต้องมีการสรุปงานร่วมกัน
"หลายกิจกรรมที่ภาครัฐลงไปทำไม่สำเร็จ เพราะเขามุ่งแค่โครงการ ไม่ได้มุ่งว่าจะสร้างคนอย่างไรในพื้นที่ เวลาประเมินเราจะต้องประเมินคนตลอดเวลาว่าในทีมนี้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง คนมาร่วมเท่าไหร่ คนใหม่ๆ มาร่วมเท่าไหร่ อีกอย่างคือการที่หลายๆ กลุ่มที่ทำงานด้านแตกต่างกันออกไปทำงานร่วมกันได้ ก็เพราะศักยภาพของแกนนำที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ เชิญผู้รู้เข้ามาให้ความรู้เขา" ปรีดากล่าว
อย่างไรก็ตาม นายไมตรีกล่าวอีกว่า ในหนังสือจะทำให้เห็นการล้มลุกคลุกคลาน จุดแข็งจุดอ่อน หรือแนวทางการทำงานของชุมชนที่จะทำให้คนอ่านหนังสือนี้แล้วจะไม่ทำผิดซ้ำอีก หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จอะไรของการทำงาน หรือไม่ใช่ตัวอย่างของความสำเร็จ แต่หนังสือเล่มนี้คือตัวอย่างการเริ่มต้นของการนับหนึ่ง จะเป็นเพียงกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวน ทั้งชุมชน ประชาสังคมหรือหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ไปพร้อมกัน
สำหรับผู้สนใจหนังสือสามารถติดต่อ ทีมสื่อสารโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อ 09-1049-6063