พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงมะเร็งเต้านม

นอนวันละไม่ถึง 6 ชม. เสี่ยงมากขึ้นกว่า 60%

 พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงมะเร็งเต้านม

 

          พบผู้หญิงที่นอนน้อยกว่าคืนละชั่วโมงเป็นประจำ อาจมีโอกาสมากขึ้นกว่า 60% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

 

          นักวิจัยเชื่อว่า การนอนหลับๆ ตื่นๆ เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนสำคัญคือเมลาโทนนินที่มีบทบาทในการปกป้องมะเร็ง

 

          การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารบริติช เจอร์นัล ออฟ แคนเซอร์ นำเสนอหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าการนอนหลับพักผ่อนเพียงพอมีความสำคัญต่อการปกป้องมะเร็งเต้านม

 

          นักวิจัยในญี่ปุ่นได้ติดตามรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้หญิงเกือบ 24,000 คนนานถึง 8 ปี ซึ่งพบว่าคนที่นอนวันละ 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้นมีแนวโน้มมากขึ้นถึง 62% ที่จะเป็นโรคมะเร็งดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นอนวันละ 7 ชั่วโมง

 

          ขณะที่ผู้หญิงที่นอนเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมงมีแนวโน้มน้อยลงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม 28%

 

          นักวิจัยสงสัยว่าเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สมองผลิตออกมาขณะหลับและควบคุมนาฬิกาชีวภาพในร่างกายคนเรา มีบทบาทสำคัญในการปกป้องมะเร็งเต้านมจากการจำกัดปริมาณการหลั่งเอสโตรเจน ซึ่งรู้กันว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้

 

          ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตโฮกุในเซนได ญี่ปุ่น ศึกษาข้อมูลของผู้หญิงอายุระหว่าง 40-79 ปีที่ร่วมทำการสำรวจสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งรวมถึงคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาการนอนหลับในแต่ละคืน

 

          ระหว่างการศึกษานาน 8 ปีปรากฏว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 143 คนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม

 

          เมื่อนักวิจัยวิเคราะห์พฤติกรรมการนอนของผู้ป่วยมะเร็งเหล่านี้ พบว่าการนอนดึกและตื่นเช้าเป็นปัจจัยสำคัญ

 

          งานศึกษาอีกหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าเนื้องอกจะโตเร็วกว่าปกติสองเท่าเมื่อขาดเมลาโทนินในเลือด

 

          ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นชุดเดียวกันรายงานเมื่อต้นปีว่า ผู้ชายที่นอนวันละ 9 ชั่วโมงมีแนวโน้มน้อยลงครึ่งหนึ่งที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อเทียบกับคนที่นอนน้อยกว่านั้น

 

          แคนเซอร์ สีเสิร์ซ ยูเค แสดงความคิดเห็นว่า แม้มีผลศึกษามากขึ้นที่ชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอกับมะเร็งกระนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ผลกระทบจากพฤติกรรมนี้มีความสำคัญมากเพียงใดเมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

          ศาสตราจารย์จิม ฮอร์น จากมหาวิทยาลัยลัฟโบโรห์ในอังกฤษวิจารณ์ว่าการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งของทีมนักวิจัยญี่ปุ่นมีขนาดเล็กเกินไป และเป็นการเหมารวมคนที่นอนหลับคืนละไม่เกิน 6 ชั่วโมง สำหรับตนแล้วคิดว่าความเสี่ยงโรคดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นจากการนอนวันละไม่ถึง 5 ชั่วโมงมากกว่า

 

          “ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีอะไรต้องกังวลเรื่องนี้ เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการนอนนานๆ ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด”

 

         

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

 

 

update 07-11-51

Shares:
QR Code :
QR Code