‘พะเยา’ สร้างต้นแบบรถสาธารณะ-รถโรงเรียนปลอดภัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟนเพจมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา


'พะเยา' สร้างต้นแบบรถสาธารณะ-รถโรงเรียนปลอดภัย thaihealth


'พะเยา' สร้างต้นแบบรถสาธารณะ-รถโรงเรียนปลอดภัย


เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 61 คณะทำงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดพะเยา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานพัฒนาคุณภาพรถสาธารณะและรถรับส่งนักเรียน ร่วมกับตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพะเยา


พวงทอง ว่องไว ตัวแทนจากมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า จากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการเช่ารถสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งที่เป็นข่าว รวมไปถึงปัญหาสภาพรถ เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ประตูฉุกเฉินกลับเปิดไม่ได้ ทำให้จังหวัดพะเยาตระหนักถึงปัญหาการเดินทางด้วยรถสาธารณะ จึงได้นำมาหารือร่วมกันในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหารถสาธารณะ เพราะแม้ว่าจะยังเกิดอุบัติขึ้น แต่จากอัตราการใช้บริการเช่ารถสาธารณะ เช่น เพื่อไปศึกษาดูงานหรือปฏิบัติภารกิจต่างๆ หากรวมกันหลายท้องถิ่นก็พบว่า มีการเช่าหลายครั้งและหากเกิดอุบัติเหตุก็จะมีความเสียหายมาก เช่นเดียวกับโรงเรียนในแต่ละปีต้องเช่ารถตู้ไปแข่งขันทางวิชาการเกือบ 20 คัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นการผลักดันให้องค์กรส่วนท้องถิ่นทุกแห่งหากต้องเช่ารถสาธารณะในการเดินทาง จะต้องใช้สัญญาในการเช่ารถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งในแง่คนขับและสภาพรถ ส่วนทุกโรงเรียน รถทุกคันจะต้องมาลงทะเบียนกับทางโรงเรียนพร้อมใบตรวจสภาพรถตามระยะเวลาที่กำหนด


ทั้งนี้ นายมงคล แห่งประสิทธิ์ ครูโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม ยังกล่าวอีกว่า รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นประเด็นหนึ่งที่ทางจังหวัดพะเยาให้ความสำคัญ โรงเรียนแม่ใจวิทยาคมถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องของจังหวัด เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยในรถโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากการทำฐานข้อมูลที่ต้องรู้ว่า ปัจจุบันมีรถรับส่งนักเรียนทั้งสิ้นกี่คัน แต่ละคันมีนักเรียนที่ต้องรับส่งจำนวนกี่คน รวมทั้งสภาพรถมีความปลอดภัยหรือไม่ โดยจะมีครูและนักเรียนผู้รับผิดชอบในการดูแลตรวจเช็คเพื่อนร่วมทางและความพร้อมของคนขับแต่ละเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้ปรับจุดรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยจากเดิมที่เคยรับส่งนอกโรงเรียนก็ให้ย้ายเข้ามายังจุดที่จัดให้ในโรงเรียน เพราะสภาพพื้นที่โรงเรียนติดกับถนนใหญ่ รถส่วนใหญ่ขับด้วยความเร็วสูง ในช่วงที่นักเรียนจำนวนมากกำลังรอรถ ก็อาจเผลอเล่นกันซึ่งอาจล้ำไปบนถนนก็อาจเกิดอันตรายได้ จึงต้องแก้ไขในจุดนี้


"รถรับส่งนักเรียนมีวิวัฒนาการมาจากการฝากลูกหลานร่วมทางกัน ต่อมาจึงกลายเป็นรถรับส่งจากหมู่บ้านสู่โรงเรียน คือจากระบบเครือญาติกลายเป็นระบบธุรกิจ ดังนั้น รถรับส่งนักเรียนควรต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เวลานี้ทั้งประเทศรถนักเรียนปลอดภัยมีไม่ถึง 10 % แต่การจะเปลี่ยนทันทีก็ทำได้ลำบาก เนื่องจากผู้ประกอบการต้องลงทุน บางคันขู่ว่าจะเลิกรับส่งไปเลย เด็กก็ไม่มีรถมาเรียน ดังนั้น เรื่องสำคัญคือการคุยปรับความเข้าใจ ทำให้ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ โรงเรียน นักเรียน เห็นร่วมกันถึงความสำคัญของความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลาพอสมควร ตอนนี้ในส่วนที่เป็นรถกระบะดัดแปลงได้ปรับให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนที่เป็นรถตู้ยืนยันว่าเปลี่ยนเข้าสู่ระบบความปลอดภัยได้ทั้งหมดแล้ว "


ในช่วงท้าย รุ่งอรุณ ลิ้มพิหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สาเหตุที่ สสส.ให้ความสำคัญกับปัญหารถสาธารณะเนื่องจากในปี 2558 มีอุบัติเหตุ 17 กรณี มีผู้เสียชีวิตมากถึง 24 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก เช่นเดียวกับปัญหารถโรงเรียน หากไม่สามารถจัดการให้ปลอดภัยหรือไม่สามารถใช้ได้อย่างมีคุณภาพ เด็กก็จะหันไปใช้มอเตอร์ไซค์ซึ่งมีความเสี่ยงหรือไปสู่อันตรายที่มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ สสส.สนับสนุนให้ภาคีทำงานในด้านนี้


“ผู้ประกอบการก็อยากทำดี กรมการขนส่งก็อยากดูแล จึงต้องคุยกันให้เห็นปัญหาและแก้ไขร่วมกันในภาคปฏิบัติ สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนการพูดคุย การทดลองแก้ไขปัญหา หากการแก้ไขของจังหวัดพะเยา สามารถเป็นโมเดลได้ก็จะขยายผล จุดประกายไปยังพื้นที่อื่นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย" ผู้อำนวยการฯ สสส. กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ